น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2566-2570) และการจัดสรรงบประมาณในการผลิตพยาบาลเพิ่ม โดยมีอัตราค่าใช้จ่ายเป็นงบดำเนินการในการผลิตบัณฑิตในอัตรา 110,000 บาท/คน/ปี หรือ 440,000 บาท/คน/หลักสูตร รวมวงเงินทั้งสิ้น 7,033.40 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เสนอ
ปัจจุบัน ปัญหาการขาดแคนพยาบาลยังคงความรุนแรง และส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศทุกด้าน โดยล่าสุดในปี 2566 ประเทศไทยมีอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากรในภาพรวมเท่ากับ 1:365 ขณะที่สัดส่วนที่เหมาะสมโดยองค์การอนามัยโลก เท่ากับ 1:270
สภาการพยาบาล จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรฯ ปีการศึกษา 2566-2570 ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการขยายระยะเวลาฯ ระยะที่ 1 ปีการศึกษา 2561-2562 รวมทั้งสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปกำลังคน และภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข
การดำเนินงานโครงการดังกล่าว เพื่อผลิตพยาบาลวิชาชีพจำนวน 15,985 คน ให้สามารถรองรับการขยายศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศในทุกภาคส่วน และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาล โดยมีเป้าหมายอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากรเท่ากับ 1:326 ภายหลังเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการในปี 2574 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 62 ที่เห็นชอบโครงการขยายระยะเวลาการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการการศึกษา สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ปีการศึกษา 2561-2565 เพื่อพัฒนาสุขภาพวะของประชาชนและตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ ระยะที่ 1 (ปีการศึกษา 2561-2562)
โดยแผนการผลิตพยาบาลเพิ่ม และงบงบงบประมาณดำเนินการ จำแนกตามสังกัดสถาบันการศึกษา ดังนี้
- สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พยาบาลวิชาชีพที่จะผลิตเพิ่ม 8,145 คน งบประมาณ 3,583.80 ล้านบาท
- สังกัดกรุงเทพมหานคร (คณะพยาบาลศาสตร์ เกื้อการุณญ์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธราช) พยาบาลวิชาชีพที่จะผลิตเพิ่ม 500 คน งบประมาณ 220.00 ล้านบาท
- สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สถาบันพระบรมราชชนก) พยาบาลวิชาชีพที่จะผลิตเพิ่ม 7,340 คน งบประมาณ 3,229.60 ล้านบาท