นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในฤดูฝนว่า นายกฯ มีความเป็นห่วงอย่างมาก ต้องการให้ปีนี้มีการเตรียมการอย่างดีที่สุด จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเน้นการเตือนภัยให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าว่า อาจจะเกิดอุทกภัย หรือภัยจากฝนที่ตกหนัก
"พื้นที่ไหนที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก นายกรัฐมนตรี กำชับว่า ปีนี้อย่ารอให้ฝนตกจนน้ำท่วม แต่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปเตรียมการในพื้นที่ดูความพร้อม เพื่อรับมือปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเน้นว่า รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) หน่วยทหาร ควรยื่นมือเข้าไปช่วยสนับสนุนการทำงานของกระทรวงมหาดไทย" โฆษกรัฐบาล กล่าว
นายชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังขอว่าพื้นที่ที่ฝนตกเกินกำลังจริง ๆ จนน้ำท่วม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ช่วยเหลือประชาชนให้รวดเร็วกว่าเดิม ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส รายงานในที่ประชุม ครม.ว่า ไม่นิ่งนอนใจ โดยได้ลงพื้นที่ภาคตะวันออก และสั่งการให้แก้ปัญหาอุทกภัยที่ จ.ตราด และจันทบุรี และขณะนี้อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออก ประมาณ 4 อ่าง เกือบจะเต็มความจุ
อย่างไรก็ดี จากรายงานปีนี้ มีปริมาณฝนมากกว่าปีที่แล้วแน่นอน แต่โชคดีว่าฝนตกหนักเดือนเว้นเดือน ซึ่งประเมินแล้ว ภาคตะวันออกเอาอยู่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้วางแผนแล้ว ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าจะขึ้นไปตรวจดูทุกจุดในลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี เพื่อจะพิจารณาว่าจะสามารถป้องกันการเกิดอุทกภัยในปีนี้ให้ดีกว่าปีที่แล้วได้อย่างไร
นายชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำชี ซึ่งพบว่าระดับน้ำสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่แม่น้ำโขงในส่วนของ จ.อุบลราชธานี ขณะนี้ระดับน้ำยังต่ำอยู่
โดยนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ได้เสนอว่า อยากให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน พิจารณาพร่องน้ำในแม่น้ำมูล และแม่น้ำชีตั้งแต่ช่วงนี้ เพราะจากนี้จนถึงปลายเดือน ส.ค. เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น หากพร่องน้ำช้าจะทำได้ยากขึ้น ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสน้อมรับ และกระทรวงเกษตรฯ จะนำข้อมูลนี้ไปวางแผนเพื่อประกอบการปฏิบัติการต่อไป
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่า แม่น้ำจากภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ยังอยู่ในปริมาณที่สามารถควบคุมได้ ส่วนภาคอีสานและลำน้ำสาขา ปัจจุบันมีน้ำมากกว่าปีที่แล้ว แต่มีการบริหารจัดการ เฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งภาคเกษตร และบ้านเรือนของประชาชน
ส่วนในภาคตะวันออก ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยใน จ.ตราด อ.เมือง อ.เขาสมิง ซึ่งวานนี้ (29 ก.ค.) ตนได้ลงพื้นที่ จ.ตราด-จันทบุรี และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมสถานการณ์น้ำ หากไม่มีปริมาณฝนตกมาเพิ่มเติม ก็มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมได้
ขณะที่อ่างเก็บน้ำใน จ.ตราด ทั้งหมด 7 แห่ง เวลานี้ 4 แห่ง มีปริมาณน้ำล้น แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ใน 3 แห่ง เช่นเดียวกับ จ.จันทบุรี ที่สถานการณ์น้ำยังสามารถควบคุมได้ ส่วนในภาคใต้ ยังไม่ถึงเวลาที่ฝนตกหนัก จึงยังต้องเฝ้าระวังอีก 2 เดือน