นายอรรถกร ศิริลัทยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 7 มาตรการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอ ดังนี้
1. กำจัดออกจากระบบนิเวศน์ให้มากที่สุด
2. ใช้วิธีธรรมชาติบำบัดด้วยการใช้ปลานักล่า
3. นำปลาที่จับมาได้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น โดยตั้งเป้าว่าตั้งแต่ขณะนี้จนถึงกลางปีหน้า จะจับให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ตัน หรือ 4 ล้านกิโลกรัม
4. เฝ้าระวังไม่ให้มีการขยายพื้นที่แพร่ระบาด
5. ทำความเข้าใจกับประชาชน
6. ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการทำให้ปลาเป็นหมัน และใช้เทคโนโลยีล่อให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อง่ายต่อการจับ
7. การฟื้นฟูระบบนิเวศน์
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า แม้ปัญหาปลาหมอคางดำจะเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และเป็นปัญหาที่คาราคาซังต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน แต่รัฐบาลถือว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชน จึงเป็นภารกิจที่รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเอาใจใส่ และมีความจริงจังในการแก้ปัญหา จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ที่ผ่านมาว่าได้ดำเนินการไปอย่างไรแล้ว และจากนี้จะมีมาตรการอย่างไร
"ที่ผ่านมา กรมประมงได้พยายามแก้ไขแล้ว แต่เอาไม่อยู่ เพราะขาดการบูรณาการกับภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ดังนั้นในรอบนี้จึงมีการเชิญนายกสมาคมประมง นายกสมาคมผู้เพาะพันธุ์ เลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และวางแผนในการแก้ไขปัญหา โดยตกผลึกเป็นมาตรการ 7 ข้อ ใช้งบประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งปัญหาปลาหมอคางดำ จะจบสิ้นและหมดไปจริง ๆ ในปี 2570 โดยจากนี้ไป ปลาหมอคางดำ จะค่อย ๆ ลดลงไปตามลำดับ" โฆษกรัฐบาล กล่าว