Power of The Act: เมื่อโอลิมปิกเกมส์ต้อง "กรีน" ด้วย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 31, 2024 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา โอลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้ ถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นโอลิมปิกเกมส์ที่ "Greenest Game Ever" (โดย The Guardian เมื่อเดือนเมษายน 2024) ซึ่งเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกีฬาโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ว่า "Choosing Renewable Energy"

จากข้อความข้างต้นผู้เขียนเข้าใจว่าผู้จัดกำลังสื่อว่าโดยพลังงานที่จะถูกใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้จะต้องเป็นพลังงานหมุนเวียน คำถามคือเหตุใดประเทศเจ้าภาพอย่างประเทศฝรั่งเศสต้องให้ความสำคัญกับมิติด้านความยั่งยืนด้านพลังงานนี้? และหากผู้จัดการแข่งขันจะจัดหาไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมาใช้รองรับการแข่งขันและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยยังคงทำให้การแข่งขันกีฬานั้นราบรื่นไม่หยุดชะงักแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไร? มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการนำเอาไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ณ สถานที่ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปจากสถานที่แข่งขันมาใช้เพื่อแสดงได้ว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนี้ Greenest อย่างแท้จริง?

*จุดยืนของคณะกรรมการโอลิมปิก

คณะกรรมการโอลิมปิก (IOC) ได้ประกาศถึงจุดยืนที่มีความสอดคล้องความตกลงปารีส (Paris Agreement) แสดงให้เห็นว่ามหกรรมกีฬานี้มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการนี้ IOC ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงและโดยอ้อมให้ได้ 30% ในปี ค.ศ. 2024 และ 50% ในปี ค.ศ. 2030 โดยจะมีการ "ชดเชย" การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากกว่า 100%

นอกจากนี้ IOC ยังประกาศว่าจะกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ติดตามมหกรรมกีฬาโอลิมปิกดำเนินการตอบสนองต่อวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ โดยได้ชูเป็นคำสัญญาว่า "Reduce-Compensate-Influence"

เพื่อบรรลุถึงคำมั่นนี้ IOC ได้ทำการตรวจวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร (Carbon Footprint) และได้แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี ค.ศ. 2022 จากกิจกรรมของตัว IOC เอง โดยได้แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 17,175 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปริมาณดังกล่าววัดจากการจัดงานต่าง ๆ ของ IOC ในเมืองโลซาน (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) และเมืองมาดริด (ประเทศสเปน) ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาคารสำนักงานของ IOC การเดินทางเพื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ IOC ที่ปรึกษา แขก และสมาชิกของ IOC การเดินทางในท้องถิ่น การเดินทางที่เป็นกิจวัตรของลูกจ้างของ IOC และการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ

*การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยกตัวอย่างเช่น กีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่งในปี ค.ศ. 2022 นั้น IOC กล่าวถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีฐาน (Baseline Emission) ที่ครอบคลุมกระบวนการทั้งปวงของการแข่งขันโอลิมปิก โดยได้แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเอาไว้มีปริมาณ 489,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

โดย IOC ได้ "กำหนด" ให้โอลิมปิกเกมส์ที่กรุงปักกิ่งจะต้องมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในส่วนของพลังงานนั้น สามารถดำเนินการได้โดยอาศัยระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อส่งผ่านไฟฟ้าที่ผลิตจากลมและแสงอาทิตย์ในเมืองจางเจียโขว่ (Zhangjiakou) มายังกรุงปักกิ่ง (สองเมืองนี้ตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 181 กิโลเมตร)

ไฟฟ้าที่ถูกส่งผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้านี้ถูกใช้ทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของกรุงปักกิ่งได้ 10% และใช้เพื่อให้พลังงานกับการแข่งขันกีฬา (ข้อมูลจากเว็บไซต์ IOC ในเรื่อง "Five ways in which Beijing 2022 will become carbon neutral" เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2022)

สำหรับปารีสเกมส์ในปี ค.ศ. 2024 นั้น การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากลมและแสงอาทิตย์นั้น "ถูกชู" ให้เป็นแหล่งพลังงาน โดยระบุว่าสถานที่จัดการแข่งขันกีฬานั้นจะมีการ "เชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า" การเชื่อมต่อนี้จะทำให้การจัดการแข่งขันสามารถใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในประเทศฝรั่งเศสผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้า ไฟฟ้าสะอาดเหล่านี้มีแหล่งกำเนิดจากโครงการทุ่งกังหันลม (Wind Farm) 6 แห่ง และทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) อีก 2 แห่ง โดยผู้จัดหาไฟฟ้าหลักของปารีสเกมส์ได้แก่ "EDF" (Electricite de France SA) ซึ่งเป็นบริษัทสาธารณูปโภคไฟฟ้าข้ามชาติของฝรั่งเศสที่รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเจ้าของ

*บทบาทของ EDF และระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศฝรั่งเศส

EDF จะรับผิดชอบในการจัดหาไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายของตนในปริมาณไฟฟ้าที่ถูกใช้จริงในการแข่งขันกีฬา การจัดหาไฟฟ้าตามแนวทางนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญคือการ "เชื่อม" สถานที่จัดการแข่งขันเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้า ถ้าปราศจากการเชื่อมต่อนี้ สถานที่จัดการแข่งขันอาจจะต้องพึ่งพาไฟฟ้าที่ผลิตโดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล (ข้อมูลจาก IOC ระบุว่ามีการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงลอนดอน ค.ศ. 2012 เอาไว้ว่ามีปริมาณถึง 4 ล้านลิตร) ในทางตรงกันข้ามหากสถานที่จัดการแข่งขันนั้นเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าแล้วการแข่งขันกีฬาก็จะสามารถใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นคงทางพลังงานสำหรับการแข่งขัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะถูกติดตั้งเอาไว้ ณ สถานที่แข่งขัน แต่จะไม่ถูกใช้งานจนกว่าจะมีเหตุต้องตัดไฟฟ้าจากระบบโครงข่าย และมีความจำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดนี้เพื่อทำให้การแข่งขันกีฬาดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลง

เมื่อไฟฟ้าที่ใช้รองรับการแข่งกีฬานั้นเป็นไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่ง EDF จัดหามาจากแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ห่างออกไป (ไม่ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้น ณ สถานที่จัดการแข่งขันเอง) ทั้ง ทุ่งกังหันลม และทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้น จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งที่หน่วยไฟฟ้าที่สถานที่จัดการแข่งขันนั้นอาจไม่ได้ผลิตโดยโครงการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรหมุนเวียนก็ได้ ในกรณีนี้จะกล่าวได้อย่างไรว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนี้ใช้ไฟฟ้าสะอาด?

EDF จะอาศัยใบรับประกันแหล่งที่มา (Guarantees of Origin) ซึ่งแสดงถึงต้นกำเนิดและปริมาณของไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ตามปริมาณจริงที่ถูกจ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า หากปริมาณที่ถูกผลิตและจ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายเท่ากับปริมาณจริงที่มีการใช้ ณ สถานที่แข่งขัน ก็ย่อมหมายความว่ามีการใช้ไฟฟ้าสะอาดตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าสะอาดที่ถูกจ่ายเข้าไปในระบบโครงข่ายจริง (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ EDF "Electricity Certified 100% Renewable")

ระบบการออกใบรับประกันแหล่งที่มานี้ อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อกิจการพลังงาน โดยใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ความ "พร้อมกัน (Simultaneity)" ของไฟฟ้าสะอาดที่ถูกผลิตขึ้นและการใช้ไฟฟ้าโดยข้อมูลนี้จะต้องมีความน่าเชื่อถือและมิอาจถูกปฏิเสธได้ ซึ่ง EDF จะสร้างความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลการผลิตและการใช้ไฟฟ้าสะอาดโดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลนี้สามารถรับรอง (Certify) ได้ว่าไฟฟ้าที่ผลิตขึ้น ณ Ottmarsheim Solar Park (ห่างจากกรุงปารีสประมาณ 503 กิโลเมตร) ในช่วงเวลา 8 ถึง 9 โมงเช้านั้น นั้นสอดคล้อง (In Line With) กับปริมาณไฟฟ้าที่ถูกใช้ในเวลาเดียวกัน ณ สนามฟุตบอล Parc des Princes ในกรุงปารีส (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ EDF "Paris 2024: behind the scenes of a game-changing record" เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2024)

*ใบรับประกันแหล่งที่มาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เมื่อพิจารณารูปแบบและลักษณะของการผลิต ส่งผ่าน จำหน่ายไฟฟ้า และตรวจวัดที่ EDF อธิบายข้างต้นแล้ว กล่าวได้ว่า "ใบรับประกันแหล่งที่มา" เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้สถานที่จัดการแข่งขันกีฬานั้นสามารถแสดงได้ว่าใช้ไฟฟ้าสะอาด โดยจะแสดงถึง "ความเทียบเท่า (Equivalence) ระหว่างการผลิตและการใช้ไฟฟ้า" ทุก ๆ กิโลวัตต์ของไฟฟ้าที่ถูกใช้ จะมีปริมาณเท่ากับปริมาณไฟฟ้าสะอาดที่ถูกจ่ายเข้าระบบโครงข่าย อย่างไรก็ตาม EDF ได้ข้อสังเกตว่าแม้จะมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนก็ตาม ระบบใบรับประกันแหล่งที่มานี้ยัง "อยู่ห่างไกล" จากการแยกแยะ (Sort) อิเล็กตรอนไฟฟ้าที่ถูกจ่ายและส่งผ่านในระบบโครงข่ายไฟฟ้า

กรอบทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปคือ Directive (EU) 2018/2001 ได้ระบุถึง "ใบรับประกันแหล่งที่มา" เอาไว้อย่างชัดเจนในย่อหน้าที่ 55 ในส่วนอารัมภบท โดยอธิบายว่าใบรับประกันแหล่งที่มาใน Directive นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแสดงให้เห็นว่าการใช้ไฟฟ้าโดยผู้บริโภคคนสุดท้าย (Final Consumer) มีสัดส่วนหรือปริมาณพลังงานที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุน

โดยใบรับรองนี้จะสามารถถูกจำหน่ายจ่ายโอนแยกจากพลังงานไฟฟ้า (Energy) ที่เป็นฐานในการออกใบรับประกันได้ โดย Article 19 ของ Directive (แก้ไขเพิ่มเติมในปี ค.ศ. 2023) กำหนดให้ใบรับประกันนี้แสดงปริมาณไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ เป็นมาตรฐานและจะต้องมีการออกใบรับประกันซ้ำจากหน่วยพลังงานที่ถูกใช้ในการออกใบรับประกันไปแล้ว

ระบบกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสได้นำหลักการที่กำหนดใน EU Directive มาบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายภายในของประเทศดังปรากฏตาม "Energy Code (Code de l'energie)" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ปรากฏตาม Article L100-1A ว่า Energy Code มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเพื่อพัฒนาและกักเก็บพลังงานหมุนเวียนเพื่อไฟฟ้า ความร้อน เชื้อเพลิง ก๊าซ และไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ

โดยปรากฏบทบัญญัติที่กล่าวถึงใบรับประกันแหล่งที่มา (garanties d'origine) Article L311-25 ของ Energy Code ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของใบรับประกันแหล่งที่มาซึ่งสอดคล้องกับ EU Directive กล่าวคือใบรับรองแหล่งที่มาที่จะมีการออกในประเทศฝรั่งเศสนั้นจะต้องมี "คุณค่า" ซึ่งสามารถรับประกันถึงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานขั้นปฐมภูมิได้ เพื่อแสดงได้ว่าผู้ใช้ไฟฟ้านั้นมีส่วนหรือมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานขั้นปฐมภูมิดังกล่าวในสัดส่วนหรือในปริมาณเท่าใด

ในส่วนที่ว่าด้วยการออกและใช้งานใบรับประกันนั้น Article L311-23 และ 24 ของ Energy Code ระบุว่า ใบรับประกันแหล่งที่มาหนึ่งใบจะออกเพื่อแสดงการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ และหน่วยพลังงานที่ถูกออกใบรับรองแล้วจะไม่อาจถูกออกใบรับประกันซ้ำได้ โดยใบรับประกันนี้จะต้องถูกใช้ภายใน 12 เดือนนับจากการผลิต และเมื่อใบรับประกันถูกใช้แล้วจะต้องถูกเพิกถอนในทันที

โดยสรุป จากมุมมองทางเทคโนโลยีและข้อพิจารณาทางกายภาพ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าสามารถถูกพัฒนาในทางกายภาพให้รองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ และส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ห่างออกไปจากสถานที่ผลิตได้ ผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้าสามารถอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนในการตรวจวัดและรับประกันว่าไฟฟ้าที่ถูกใช้นั้นมีปริมาณเท่ากับไฟฟ้าสะอาดที่ถูกจ่ายเข้าระบบโครงข่ายในเวลาเดียวกันกับที่มีการผลิตไฟฟ้าสะอาดขึ้น

ส่วนมุมมองทางกฎหมายนั้น ผู้เขียนเห็นว่าระบบกฎหมายสามารถรองรับการออกใบรับประกันแหล่งที่มาการผลิตไฟฟ้าสะอาด โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถใช้ใบรับประกันนี้เพื่อแสดงได้ว่าตนมีส่วนหรือมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสะอาด กรณีศึกษาจากปารีสเกมส์และกรอบทางกฎหมายของสหภาพยุโรปและประเทศฝรั่งเศสแสดงให้เห็นว่าระบบกฎหมายนั้นมีศักยภาพที่รองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเพื่อมุ่งหน้าไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ