เร่งพร่องน้ำออกจากอ่างฯ เตรียมรับฝนระลอกใหม่ ก.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Thursday August 1, 2024 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า จากคาดการณ์สภาพอากาศในช่วง 10 วันข้างหน้า (1-10 ส.ค.67) ปริมาณฝนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเริ่มลดลง สทนช. จึงได้ย้ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ฯลฯ เร่งพร่องน้ำออกจากอ่างฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนักในเดือน ก.ย.67 เนื่องจากคาดว่าจะมีอ่างฯ หลายแห่งที่มีปริมาณน้ำใกล้เคียง 100% ของความจุ ในช่วงที่ปริมาณฝนมาก เช่น อ่างฯ ป่าสักชลสิทธิ์, อ่างฯ ลำปาว, อ่างฯ แม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นต้น โดยจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

พร้อมทั้งกำชับให้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลศาสตร์ทุกแห่ง ให้มีความพร้อมในการรองรับปริมาณน้ำจำนวนมาก ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุอย่างทันท่วงที

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย รวม 15 จังหวัด โดยยังคงมีปัญหาอุทกภัยอยู่ 10 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี

โดยพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ที่มีปริมาณฝนตกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ อ.บ่อไร่ อ.เขาสมิง อ.แหลมงอบ จ.ตราด, อ.มะขาม อ.ขลุง จ.จันทบุรี, อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี อ.ไทรโยค อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ปัจจุบัน ระดับน้ำท่วมในบางพื้นที่ยังทรงตัวแต่มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ที่ จ.ตราด คาดว่าระดับน้ำบริเวณ อ.เขาสมิง จะลดลงเข้าสู่ตลิ่งในวันที่ 1 ส.ค.67 ส่วน จ.จันทบุรี คาดว่าระดับน้ำทุกพื้นที่จะลดลงต่ำกว่าตลิ่งในวันที่ 2 ส.ค.67

"สทนช. ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งแก้ไขปัญหาอุทกภัย ผ่านกลไกศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง รวมถึงได้จัดรถโมบายให้บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำสำหรับประชาชนในพื้นที่ จ.จันทบุรี และ ตราด นอกจากนี้ ปภ.จะเร่งเข้าสำรวจความเสียหาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการชดเชยเยียวยาให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วหลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ" นายไพฑูรย์ กล่าว

ส่วนการแก้ไขปัญหาพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สทนช. ได้ปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านศูนย์ฯ ส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำมูล ขณะนี้สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติในหลายพื้นที่ จึงได้ปิดการดำเนินงานของศูนย์ฯ ลงแล้ว แต่ยังคงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ