นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการป้องกัน และรับมือน้ำท่วม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมมอบนโยบายให้กับศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม. โดยระบุว่า จากปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ปีนี้มีฝนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน ซึ่งจะมีปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนนี้ไปจนถึงเดือนพ.ย. และช่วงลอยกระทง ดังนั้น รัฐบาล และ กทม.จึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ
นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง กทม. เตรียมการเฝ้าระวังและการประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง พร้อมช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์เฉพาะหน้าเรื่องปัญหาน้ำท่วม และการระบายน้ำ รวมถึงการเตรียมพื้นที่แก้มลิง เพื่อรองรับน้ำรอการระบาย ขณะเดียวกันก็ให้พร้อมรับมือกับน้ำเหนือหลาก และน้ำทะเลหนุน อีกทั้งการควบคุมปริมาณน้ำในคลองต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม
ทั้งนี้หากฝนตกและมีภาวะน้ำทะเลหนุน ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ โดยได้กำชับกรมราชทัณฑ์เรื่องการขุดลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับความร่วมมือที่ดี ขณะเดียวกัน ฝ่ายความมั่นคงก็ช่วยในเรื่องการขุดลอกคูคลอง การกำจัดขยะและวัชพืช ตามท่อระบายน้ำในจุดต่าง ๆ ขอให้ทางกทม. ร่วมงานกับฝ่ายปกครอง กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ ในการจัดการทุกมิติอย่างเต็มที่ ขอให้กำลังใจ เพราะงานนี้ไม่ใช่งานง่าย ประกอบกับปีนี้น้ำเยอะ จึงขอฝากไว้ด้วย
"พื้นที่สุ่มเสี่ยงที่เกิดปัญหาน้ำท่วมประจำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนที่แออัด ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจะมีน้ำท่วม ก็ขอให้ไปกำหนดจุด และหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะชุมชนบ่อนไก่ ที่เกิดปัญหาเป็นประจำ โดย กทม. ก็รับที่จะไปดูแลพื้นที่เปราะบางเป็นอันดับแรกของการแก้ไขปัญหาพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งหากมีโอกาส จะร่วมลงพื้นที่ด้วย แต่ยืนยันไม่ได้ไปจับผิด แต่เป็นการช่วยกันทำงาน" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ กทม. มีทั้งหมด 4 สาย ประกอบด้วย น้ำเหนือ น้ำฝน น้ำทะเลหนุน และน้ำตามทุ่ง ซึ่งหากมาพร้อมกันก็จะเป็นปัญหา เหมือนที่เกิดขึ้นเมื่อปี 54
ส่วนการป้องกันจะมี 2 แนวทาง คือ เส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอย ที่จะช่วยเรื่องการระบายน้ำ เส้นเลือดใหญ่ คือแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเส้นเลือดฝอย จะเป็นการระบายน้ำตามคูคลองสายย่อยต่าง ๆ ที่จะต้องขุดลอกคูคลอง เพื่อรอรับการระบาย