นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้เข้าชี้แจงคณะกรรมธิการ (กมธ.) การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาปลาหมอคางดำ โดยยืนยันว่าไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาด ซึ่งบริษัทมีการดำเนินการกักกัน (Quarantine) ลูกปลาอย่างถูกต้อง ตลอด 16 วัน และย้ำว่าหลังการทำลายลูกปลาที่เหลือทั้งหมด บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือนม.ค.54 รวมถึงไม่มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ใด ๆ ทั้งสิ้น
"ปลาที่เอามา 2,000 ตัว แล้วมาถึงที่สนามบิน เหลืออยู่ 600 สภาพไม่แข็งแรง ซึ่งเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่ของกรมกรมประมง มาตรวจเช็คที่สนามบิน เมื่อเอาเข้ามาปลาไม่สมบูรณ์ เราก็ปิดโครงการ"
สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมประมง เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มเมื่อปี 2560 เป็นการสุ่มตรวจในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาด ก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟาร์มไม่มีการเลี้ยงปลาใด ๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างปิดปรับปรุงฟาร์ม ส่วนกรณีไม่อนุญาตบันทึกภาพและเสียง เนื่องจากมีรายละเอียดที่มีผลทางกฎหมาย
"สิ่งที่เราชี้แจงไปเพียงพอแล้ว ส่วนที่คนสงสัยเรื่องภาพ ตามกระบวนการนั้น เราก็ให้คนติดต่อ นำไปให้ตามจำนวนปลาที่ตกลงกัน ยืนยันว่าเรามีกระบวนการจัดการที่เป็นมาตรฐาน ส่วนเรื่องที่มีการส่งออกตั้ง 3 แสนกว่าตัว ห่างกัน 150 เท่า ผมคิดว่าน่าจะไปพิจารณาว่าการแพร่กระจาย มันเกิดจากอะไรกันแน่ ยืนยันว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไม่ได้เกิดจากซีพีเอฟ ส่วนเกิดจากอะไรนั้น ก็คงต้องให้คณะกรรมาธิการ หรือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องติดตาม ฝากนักข่าวไปลองพิจารณาเพิ่มเติมว่า 2,000 ตัว กับ 3 แสนกว่าตัวที่ส่งออก ไม่ใช่นำเข้า มันมาจากไหน เราคงแสดงความคิดเห็นมากไม่ได้...มีหลักฐานอยู่แล้ว ว่ามีจำนวนการส่งออกปลาหมอคางดำ จาก 11 บริษัทไป 17 ประเทศ ประเด็นนี้เราเห็นข้อมูลจากกรมประมง และข่าวต่าง ๆ ที่มีคนไปสืบค้นเพิ่มเติม" นายประสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ CPF พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ตามมาตรการ 7 ข้อของรัฐบาล ซึ่งในปัจจุบัน CPF ดำเนินโครงการที่สอดคล้องตามแนวทางของภาครัฐ 5 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด จำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ซึ่งรับมาแล้ว 600,000 กิโลกรัม
2. โครงการสนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว ตามแนวทางของกรมประมง และมีการปล่อยปลากะพงขาวไปแล้ว 49,000 ตัว โดยร่วมมือกับชุมชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่พบการระบาด
3. โครงการสนับสนุนการจับปลา ตลอดจนอุปกรณ์จับปลา และกำลังคนในพื้นที่
4. โครงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลับขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ
5. โครงการร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
"โครงการเหล่านี้ จะสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล เราก็คิดว่าควรมีส่วนช่วยเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม แต่จะเกี่ยวข้องกับบริษัท หรือไม่เกี่ยวข้อง เหมือนกับช่วงโควิด-19 เราก็ถือเป็นบริษัทหนึ่ง ก็เข้าไปช่วยส่งอาหารไปตามที่ต่าง ๆ จำนวนหลายล้านกล่อง คงเป็นลักษณะคล้ายคลึงกัน" นายประสิทธิ์ กล่าว