นายกฯ เตรียมบินขึ้นเหนือ ร่วมถก "แม่โขง-ล้านช้าง" 15-16 ส.ค.

ข่าวทั่วไป Tuesday August 13, 2024 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในวันที่ 15-16 ส.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างครั้งที่ 9 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเช้า ซึ่งปกติแล้วนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องไป แต่ว่าวันนี้มีเรื่องความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การท่องเที่ยว การบินพลเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปราบปรามยาเสพติด เป็นที่ทราบกันดีว่า แหล่งผลิตอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ตลอดจนยับยั้งการฉ้อโกงผ่านทางการค้าออนไลน์ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องของ call center ที่ถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลต้องการผลักดันต่อ และจะลงพื้นที่อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพิ่มเติมเพื่อติดตามงานพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 จำนวน 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ได้แก่

1. ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การปราบปรามยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ การท่องเที่ยว และการบินพลเรือน

2. ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อริเริ่มอากาศสะอาดแม่โขง-ล้านช้าง มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความตระหนักรู้ของสาธารณะและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการกับมลพิษทางอากาศในภูมิภาค รวมทั้งเน้นย้ำบทบาทของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหา

3. ร่างข้อริเริ่มว่าด้วยการกระชับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง-แม่โขง มีสาระสำคัญเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และ

4. ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มีสาระสำคัญเป็นการให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ายาเสพติด ตลอดจนยับยั้งการฉ้อโกงผ่านช่องทางออนไลน์ และการพนันออนไลน์ รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศสมาชิกให้มีการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง

การดำเนินการตามร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 4 ฉบับ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือ MLC ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยและตอบโจทย์การพัฒนาในบริบทความท้าทายปัจจุบันของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ การแลกเลี่ยนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 4 ฉบับไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม ม.178 ของ รธน.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ