กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยไทยยังไม่พบเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงสายพันธุ์ที่ระบาดในทวีปแอฟริกา และได้ร่วมกับห้องปฏิบัติการเครือข่ายกว่า 62 แห่งทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดการระบาด สามารถรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมฯ ร่วมกับกรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์สายพันธุ์ของเชื้อฝีดาษลิงในประเทศไทย ด้วยการสุ่มตรวจทางห้องปฏิบัติการมาโดยตลอดล่าสุด การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จำนวน 191 ราย ผลการวิเคราะห์แบ่งได้เป็น 8 สายพันธุ์ย่อย คือ A.2, A.2.1, B.1, B.1.12, B.1.3, B.1.7, C.1 และ C.1.1 โดยพบสายพันธุ์ย่อย C.1 มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 85.34% รองลงมาคือสายพันธุ์ย่อย A.2.1 (5.76%), C.1.1 (3.66%) และ A.2 (2.09%) ตามลำดับ
ทั้งนี้ พบว่า สายพันธุ์ย่อย C.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากในช่วงแรกของสถานการณ์ระบาดที่เป็นสายพันธุ์ย่อย A.2 ทั้งนี้ บ่งชี้ถึงการวิวัฒนาการของไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสะสมของการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น เพื่อปรับตัวตลอดเวลา
สำหรับสายพันธุ์ย่อย C.1 ถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เคลดวัน Clade I ที่มีการระบาดอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยเคลดวัน Clade I มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10% ในขณะที่เคลดทู Clade II ทั้งเคลดทูเอ Clade IIa เคลดทูบี Clade IIb ซึ่งรวมถึง C.1 มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าเพียง 1% โดยทั่วไปเคลดทู Clade II (รวมถึง C.1) มีลักษณะการแพร่เชื้อที่ไม่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตต่ำในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ และปัจจุบันได้จำแนกไวรัสฝีดาษลิงออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก คือ เคลดวัน Clade I, เคลดทูเอ Clade IIa, และเคลดทูบี Clade IIb
นพ.ยงยศ กล่าวว่า กรมฯ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการเครือข่าย จำนวน 62 แห่ง ได้เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจเชื้อฝีดาษลิงได้ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิษณุโลก ภูเก็ต ราชบุรี ลำปาง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี
ทั้งนี้ สามารถรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงทางห้องปฏิบัติการ และสามารถถ่ายทอดไปยังห้องปฏิบัติการเครือข่าย ช่วยส่งเสริมการควบคุม และป้องกันการแพร่กระจายของโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพ
"กรมฯ ยังคงเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อฝีดาษลิงในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบแนวโน้มการระบาด การกลายพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ซึ่งจะช่วยให้กำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม และทันการณ์ อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการที่มีความเข้มแข็ง การตรวจหาอย่างรวดเร็ว และการหาลำดับจีโนมที่พร้อมใช้งานอย่างกว้างขวาง จะช่วยสนับสนุนการตรวจจับสายพันธุ์เคลดวัน Clade I ที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคได้" นพ.ยงยศ กล่าว