นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดประเทศไทยพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) สายพันธุ์ clade Ib รายแรก โดยสายพันธุ์ clade Ib นี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขที่มีผลกระทบระหว่างประเทศ
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ไทยพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง ชาวยุโรป เพศชาย อายุ 66 ปี เดินทางมาจากประเทศแถบทวีปแอฟริกา (ซึ่งมีการระบาดของฝีดาษลิง clade Ib) ต่อเครื่องบินที่ประเทศตะวันออกกลาง และมาลงเครื่องที่ไทยในวันที่ 14 ส.ค. เวลาประมาณ 18.00 น. ต่อมาในวันรุ่งขึ้นวันที่ 15 ส.ค. ช่วงเช้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ และมีตุ่มขึ้นเล็กน้อย จึงไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที ซึ่งผลตรวจเชื้อโรคฝีดาษวานร สายพันธุ์ clade II ให้ผลเป็นลบ ส่วนสายพันธุ์ clade Ib ให้ผลไม่ชัดเจน จึงต้องตรวจใหม่ และอยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน คาดว่าวันศุกร์นี้ (23 ส.ค.) จะสามารถยืนยันได้ 100% ว่าจะเป็น clade Ib หรือไม่
อย่างไรก็ดี สธ. มีระบบติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัส และผู้ที่เดินทางมาไฟลต์เดียวกันกับผู้ป่วย ที่อยู่ในระยะใกล้ผู้ป่วยประมาณ 2 แถวที่นั่งบนเครื่องบิน รวมแล้วทั้งหมด 43 คน มีทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยทีมสอบสวนโรค มีรายชื่อ และสามารถติดตามผู้สัมผัสทั้งหมดได้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 21 วัน ในการสอบสวนโรค
นพ.ธงชัย กล่าวว่า จะมีการติดตามสอบสวนผู้สัมผัสบนเครื่องบิน สอบถามว่ามีใครบ้าง เดินทางเข้ามาอย่างไร ไปไหนบ้าง ไปพบใคร พักที่ไหน เป็นต้น อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยรายนี้มีระยะเวลาในการสัมผัสกับคนอื่น ๆ หลังจากลงเครื่องบินในระยะเวลาสั้นมาก โดยล่าสุดผู้ป่วยรายนี้อยู่ในโรงพยาบาล และไม่มีอาการรุนแรงใด ๆ
"43 คนเราได้ล็อกเป้าไว้แล้ว แต่ไม่ต้องห่วงว่าเขาจะติด จะเริ่มติดต่อกันต่อไปได้ ก็ต้องเริ่มมีอาการ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีตุ่ม ทั้ง 43 คน รู้แล้วว่าต้องดูแลตัวเองอย่างไร ไม่จำเป็นต้องกักตัว ถ้ามีอาการค่อยพบแพทย์ และกักตัว ย้ำว่าไม่ได้ติดง่ายเหมือนโควิด-19 โดยล่าสุด 43 คนยังไม่มีอาการ ต้องผ่านพ้นไป 21 วัน นับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. ส่วนการใส่หน้ากากอนามัยนั้นยังมีประโยชน์ ช่วยป้องกันโรคได้หลายชนิด แต่ฝีดาษลิงสิ่งสำคัญที่สุดคือการล้างมือ" นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชัย เน้นย้ำว่า ฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อง่ายเหมือนโควิด-19 ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดจริง ๆ และส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ และโดยปกติแล้วฝีดาษลิงสามารถหายเองได้ ยกเว้นมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรค HIV ร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับอัตราการเสียชีวิตของฝีดาษลิง Clade IIb มีประมาณ 1.3% ส่วน clade Ib ประมาณ 3-5% อย่างไรก็ดี สิ่งที่ WHO กังวล คือในแอฟริกา clade Ib พบในเด็กมากขึ้น จากสายพันธุ์ก่อนหน้าที่พบในผู้ใหญ่ โดยการสัมผัสง่ายกว่าเดิม หรือเจอการสัมผัสผ่านสารคัดหลั่งได้ แต่การติดต่อยังยาก เพราะประสิทธิภาพในการติดต่อคนไม่สูง ดังนั้น ยืนยันว่าไม่ติดง่ายเหมือนโควิด-19 ส่วนใหญ่ต้องสัมผัสใกล้ชิดมาก สำหรับความรุนแรงของโรคนั้น คาดว่าไม่มีผลต่อการระบาดมากขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยมี 4 สายการบินโดยตรงที่มาจากประเทศแถบแอฟริกามาลงที่ไทย อย่างไรก็ดี 4 ประเทศดังกล่าวนั้นอยู่ใน 42 ประเทศ ที่จำเป็นต้องผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ หรือไทยมีการตรวจโรคอยู่แล้ว
"ในทางวิชาการ จำเป็นต้องบอกกล่าวให้ประชาชนรับทราบถ้ามีข้อมูลอัปเดต ซึ่งถ้ารอให้ยืนยัน 100% ก็อาจจะช้าเกินไปหรือไม่ เนื่องจากการควบคุมป้องกันโรคนั้นประชาชนควรรับรู้พร้อม ๆ กับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ และป้องกัน" นพ.ธงชัย กล่าว