ในระยะนี้ประเทศไทยยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักหลายพื้นที่ เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 24-30 ส.ค. 67 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน จำนวน 35 จังหวัด ได้แก่
- ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม
- ภาคตะวันตก: จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด
- ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ทั้งหมด 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี เลย บึงกาฬ สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และระดับน้ำลันตลิ่ง และท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขาของ ลำน้ำงาว, แม่น้ำสาย, แม่น้ำอิง, แม่น้ำน่าน, แม่น้ำยม, แม่น้ำแควน้อย, แม่น้ำป่าสัก, ลำน้ำก่ำ และแม่น้ำตราด
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำหลาก พร้อมวางแผนจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำยม เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาจากจังหวัดแพร่
โดยการหน่วงน้ำไว้บริเวณด้านเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ และจะผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทางประตูระบายน้ำคลองหกบาท ก่อนจะระบายลงสู่แม่น้ำยมสายเก่าและแม่น้ำน่านตามลำดับ ส่วนด้านท้ายน้ำจะระบายลงแม่น้ำยมสายหลัก พร้อมแบ่งการระบายน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและขวา เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาการรับน้ำเข้าทุ่งบางระกำ โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนในพื้นที่ให้รับทราบสถานการณ์อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องด้วย
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (21 ส.ค.) เวลา 18.00 น. สถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ Y.20 อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้เพิ่มขึ้นสูงจนถึงระดับวิกฤต โดยมีน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,390 ลบ.ม./วินาที และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้พื้นที่ตอนล่างในเขตจังหวัดสุโขทัย เตรียมรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำในอีก 2 วันข้างหน้านี้