เอาอยู่! กทม. มั่นใจรับมือน้ำเหนือ-น้ำหนุนได้ ลั่นไม่ซ้ำรอยท่วมหนักปี 54

ข่าวทั่วไป Tuesday August 27, 2024 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอาอยู่! กทม. มั่นใจรับมือน้ำเหนือ-น้ำหนุนได้ ลั่นไม่ซ้ำรอยท่วมหนักปี 54

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ในส่วนของน้ำจากภาคเหนือ และมวลน้ำจาก จ.สุโขทัย ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลลงมาไม่มาก แต่เป็นห่วงเรื่องฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่า เพราะท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ ออกแบบรองรับได้ประมาณ 60 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่หากมีปริมาณฝนตกหนักเหมือนภาคเหนือในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ที่ปริมาณฝนมากถึง 200 มิลลิเมตร ก็ค่อนข้างน่ากังวล

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีอะไรเทียบเคียงกับปี 54 โดยในปี 54 กทม. ได้ทำแนวยกถนนปิดกั้นรอบกรุงเทพฯ ยาวเกือบ 600 กิโลเมตร และในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กทม. ก็ได้เตรียมความพร้อมก่อสร้างหลายโครงการ ทำให้หลายจุดที่เกิดน้ำท่วมขังก็ลดลงเร็วขึ้น

เอาอยู่! กทม. มั่นใจรับมือน้ำเหนือ-น้ำหนุนได้ ลั่นไม่ซ้ำรอยท่วมหนักปี 54

โดยวานนี้ (26 ส.ค.) ตนได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือหลาก และน้ำทะเลหนุน บริเวณท่าน้ำวังหลัง เขตบางกอกน้อย และบริเวณท่าราชวรดิฐ เขตพระนคร ซึ่งในปัจจุบัน กทม. ได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในจุดฟันหลอ บริเวณท่าน้ำวังหลังเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กทม. จะไม่ประมาท โดยได้เตรียมกระสอบทรายไว้ 1.5 ล้านลูก สำนักการระบายน้ำ นำไปเรียงแล้ว 2.5 แสนลูก ตามจุดฟันหลอที่ยังไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ โดย กทม. เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เตรียมตัวให้พร้อมไม่ต้องกังวล แต่ห้ามประมาทโดยเด็ดขาด

ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สถานการณ์การระบายน้ำก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ น้ำจาก จ.น่าน เขื่อนสิริกิติ์ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกเกือบ 30% สำหรับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำผ่านจุดสำคัญ ณ วันที่ 27 ส.ค. จุดวัดน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 898 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที อัตราระบายน้ำเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,730 ลบ.ม./วินาที ส่วนจุดวัดน้ำบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,192 ลบ.ม./วินาที อัตราระบายน้ำเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500-3,000 ลบ.ม./วินาที ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ยังห่างจากระดับน้ำที่เฝ้าระวังอีกมาก จึงไม่น่ากังวล

อย่างไรก็ดี กทม. จะไม่ประมาท โดยมีมาตรการป้องกันน้ำเหนือ และน้ำหนุนที่จะเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยมีการตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วม คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม โดยได้เรียงกระสอบทรายตามแนวที่มีคันกั้นน้ำต่ำ หรือแนวฟันหลอ/ ช่องเปิดท่าเรือ เพื่อเสริมความสูงแนวคันกั้นน้ำ ขณะเดียวกัน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำเหนืออย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบความเรียบร้อย และให้การช่วยเหลือประชาชน แนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา

"กทม. มีคันกั้นน้ำที่ถอดบทเรียนมาตั้งแต่ปี 54 สูงเกินกว่า 50 เซนติเมตร ส่วนจุดฟันหลอ หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วมทั้งหมดประมาณ 32 จุด ได้มีการดำเนินการแล้ว 14 จุด และจะทำเพิ่มอีก 3 จุด ซึ่งคาดว่าเสร็จสิ้นในเดือนต.ค.นี้ ส่วนอีก 15 แห่งจะค่อย ๆ ดำเนินการ และสำรวจต่อไป" นายวิศณุ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมาณฝนในปี ส.ค. 67 อยู่ที่ 208.5 มิลลิเมตร น้อยกว่า ส.ค. 66 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 224 มิลลิเมตร ขณะที่ปริมาณฝนสะสมปี 67 อยู่ที่ 842.5 มิลลิเมตร มีค่าใกล้เคียงกับปี 66 อยู่ที่ 811.50 มิลลิเมตร

"แสดงให้เห็นว่า กทม. มีความพร้อมด้านเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ ประตูระบายน้ำ และคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ ในการรับมือกับสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน กทม. ได้ลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์น้ำฝน และเตรียมความพร้อมในการระบายน้ำหลายจุด ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนอยู่ตลอด" นายวิศณุ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ