สถานการณ์น้ำท่วมจะซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่? นี่คือคำถามที่หลายคนกังวลหลังเกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ และเริ่มขยายวงกว้าง ไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย
สำนักข่าว "อินโฟเควสท์" จะพาไปหาคำตอบแบบกับกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
นายชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการพิเศษ ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า จากข้อมูลคาดการณ์ของปี 67 เทียบกับสถานการณ์เมื่อปี 54 แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ของปัจจัยที่จะทำให้ปี 67 นี้เกิดน้ำท่วมหนักและยาวนานอย่างปี 54 ได้
- ปี 54 บริเวณประเทศไทยตอนบนประสบสภาวะน้ำท่วมรุนแรงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสภาพอากาศบริเวณประเทศไทยในปี 54 นั้น ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเกือบตลอดช่วง
นอกจากนี้ ยังได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "นกเตน" ที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่าน ในขณะมีกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงปลายเดือนก.ค. 54 นับเป็นพายุลูกแรกที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ขณะเดียวกัน มีพายุที่เคลื่อนเข้ามาสลายตัวใกล้ประเทศไทยอีกจำนวน 4 ลูก ส่งผลให้ปริมาณฝนสะสมของไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ต.ค. 54 มีปริมาณฝนรวม 1822.4 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติ 28% โดยบริเวณภาคเหนือมีปริมาณฝน 1674.5 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติถึง 42% ส่วนภาคกลางมีปริมาณฝน 1508.6 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติ 26%
สำหรับพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากน้ำท่วม พบว่า ปริมาณฝนในช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค. 54 ของภาคเหนือตอนล่างมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติตลอดช่วงโดยเฉพาะเดือนก.ย. 54 ที่สูงกว่าค่าปกติถึงประมาณ 50%
- ปี 67 สถานการณ์น้ำท่วมโดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ มาจากการที่สภาวะอากาศในช่วงนี้มีฝนตกหนัก เกิดจากการที่ร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนสุดของประทเทศเป็นเวลานานกว่าปกติ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนมีกำลังอ่อน และความกดอากาศสูงในซีกโลกใต้มีกำลังแรง ทำให้ความกดอากาศต่ำในบริเวณดังกล่าวมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดปริมาณฝนสะสมจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางตอนบนของประเทศ ในขณะที่ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญายังอยู่ในสถานะปกติ ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยภาพรวมของระบบมรสุมยังอยู่ในช่วงฤดูปกติ
"ปกติร่องมรสุมจะเคลื่อนตัวจากทางเหนือ และลงมาภาคกลาง และใต้ เป็นระบบปกติ แต่ร่องไปค้างอยู่บางตำแหน่งอาจจะเกิดจากระบบลมที่เกิดขึ้นใหญ่กว่าร่องมรสุม ทำให้ร่องไม่เคลื่อนที่ อย่างประเทศอินเดีย หรือจีนก็โดน เป็นระบบใหญ่ที่อาจโดนพาดผ่านไปทั้งเอเชียตอนบน โดยปริมาณฝนทุกพื้นที่โดยรวมในเดือนส.ค. อยู่ในระดับปกติ อยู่ในช่วงฤดูมรสุมปกติ เพราะสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา ก็อยู่ในสถานะปกติ และไม่มีพายุ" นายชลัมภ์ กล่าว
ในระยะ 3 เดือนนี้ (ส.ค.-ต.ค.) คาดว่า ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศจะมากกว่าค่าปกติ 5%
- เดือนส.ค. ปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นบริเวณภาคเหนือจะมีปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าปกติประมาณ 5% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนรวมน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5%
- เดือนก.ย. ปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยจะใกล้เคียงค่าปกติ
- เดือนต.ค. ปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยจะมากกว่าค่าปกติ 10%
สำหรับปรากฏการณ์ลานีญา จะเข้าสู่ประเทศไทยอย่างเต็มตัวในช่วงกลางเดือนก.ย. ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า การเกิดลานีญาครั้งนี้จะมีผลในช่วง 2-3 เดือน และจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
อย่างไรก็ดี "ลานีญา" มีโอกาสที่จะทำให้พายุรุนแรงขึ้นได้ โดยในช่วงต้นปีกรมอุตุฯ เคยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีพายุเข้าไทยประมาณ 1-2 ลูก แต่จากสถานการณ์ล่าสุด คาดว่าพายุจะเข้าไทยในปีนี้ประมาณ 2-3 ลูก โดยฤดูกาลของพายุในไทย จะพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. และจะลงไปที่ทางภาคใต้ของไทยในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.
สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ จะมีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมหนักเหมือนช่วงปี 54 หรือไม่นั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า การเกิดอุทกภัย ในปี 54 มีปริมาณฝนสูงผิดปกติ ปริมาณฝนรวมทั้งปีมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 25% มีฝนตกหนักกระจายตัวเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะภาคเหนือมีฝนตกหนักทั่วทุกพื้นที่ โดยมวลน้ำจากภาคเหนือส่วนใหญ่จะไหลลงสู่ภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและมีโอกาสเกิดอุทกภัย น้ำท่วมขังสูงกว่าภาคอื่น ประกอบกับในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. ที่มีพายุ 5 ลูก พัดผ่านประเทศไทย ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำ และเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินขีดความสามารถในการรับน้ำ
สำหรับการเกิดอุทกภัยในปี 67 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าพายุหมุนเขตร้อน (ดีเปรสชั่น โซนร้อน และไต้ฝุ่น) เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือในช่วงเดือนส.ค. หรือ ก.ย. ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ในปัจจุบัน (วันที่ 23 ส.ค. 67 เวลา 06.00 น.) มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 42,754 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60% ยังสามารถรับน้ำได้อีก 28,173 ล้าน ลบ.ม.
ดังนั้น จากข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนส.ค. พบว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนสะสมในทุกภาคยังมีปริมาณที่น้อยกว่าปี 54 นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศไทย จำนวน 35 แห่ง ยังมีปริมาตรที่น้อยกว่าปี 54 เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ยังมีปริมาณที่น้อยกว่าปี 54 เช่นกัน ซึ่งยังมีศักยภาพที่จะรองรับน้ำฝนได้