นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย พะเยา สุโขทัย ลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน พิษณุโลก และนครสวรรค์ ยังมีแนวโน้มที่ฝนจะตกเพิ่มอีกระลอก ทั้งนี้ หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เบื้องต้นประเมินความเสียหายประมาณ 4-6 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.02-0.03% ของ GDP ซึ่งยังคงต้องติดตามและประเมินผลกระทบอีกครั้ง เนื่องจากหลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติม
ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมา เป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม โดยในระยะสั้นหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้การสั่งการและมอบหมายนโยบายข้ามกระทรวงเกิดการบูรณาการการทำงานอย่างคล่องตัว และจะต้องเตรียมแผนรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ
ตลอดจนปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อน ในช่วงเดือนก.ย.และต.ค. ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ ซึ่งหากรัฐบาลมีแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจน ก็จะช่วยลดผลกระทบ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และเศรษฐกิจได้มาก
นายสนั่น กล่าวว่า ในส่วนของภาคเอกชน หอการค้าไทย โดยมูลนิธิพาณิชย์สงเคราะห์ ได้เปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านเครือข่ายเอกชนทั่วประเทศ พร้อมทั้งส่งมอบเงินผ่านหอการค้าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เพื่อจัดหาสิ่งของที่จำเป็น และระดมอาสาสมัครภาคเอกชนลงพื้นที่แจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงเครือข่ายเอกชนต่าง ๆ ที่ได้จัดคาราวานลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือสถานการณ์หลังระดับน้ำลดลง และเข้าสู่ภาวะปกติ ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีแนวทางการช่วยเหลือ ซ่อมแซม และฟื้นฟูให้ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะความเสียหายของสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาปรับปรุง และซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการค้าปลีกและบริการ จึงได้ผนึกกำลังความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง (Modern Retail & Wholesale) ชั้นนำของประเทศ ระดมแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ผ่านการจัดแคมเปญลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง อาทิ ไทวัสดุ ให้การสนับสนุนการลดราคาสินค้าในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซม-ตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ร่วมรายการ กลุ่มอุปโภคบริโภค อาทิ
- Tops ลดราคาสินค้าค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน กว่า 7,000 รายการ อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ กระดาษทิชชู่ ยาสระผม แปรงสีฟัน ผ้าอนามัย สินค้า Own Brand และยังล็อคราคาสินค้าอีกกว่า 400 รายการ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ยาวนานขึ้น
- Big C ลดราคาสินค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสด ของใช้ในครัวเรือนทุกรายการ และร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดสินค้าลดราคา ออกหน่วยธงฟ้าบริการประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย
- Makro ให้การสนับสนุนการลดราคาสินค้าในกลุ่ม ข้าวสาร น้ำดื่ม ขนมขบเคี้ยว อาหารแห้ง อาหารสด ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล สินค้ากว่า 4,000 รายการ
- Lotus?s ลดราคาสินค้าในกลุ่ม ข้าวสาร น้ำดื่ม อาหารแห้ง อาหารกระป๋องเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเขียน อาหารสัตว์เลี้ยง ของใช้ส่วนตัว ยารักษาโรค และของใช้จำเป็นอื่น ๆ สินค้ากว่า 5,000 รายการ
นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับเครือข่ายบริษัทชั้นนำ เพื่อช่วยสนับสนุนส่วนลดพิเศษเพิ่มเติม อาทิ TOYOTA สำหรับซ่อมแซมยานพาหนะ, SCG สำหรับการซ่อมแซมและวัสดุก่อสร้าง, Siam Kubota มอบส่วนลดค่าแรง น้ำมันเครื่อง และอะไหล่ให้กับรถที่ได้รับความเสียหายจาก ภัยธรรมชาติโดยตรง ฯลฯ
สำหรับการช่วยเหลือด้านการเงิน ได้มีการหารือกับ SME D Bank และ EXIM Bank ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ นอกจากนั้น หอการค้าไทย จะใช้ศูนย์ประสานงาน และประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรฯ เป็นกลไกในการช่วยกระจายและระบายสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ โดยหลังจากนี้ คาดว่าน่าจะมีความช่วยเหลือจากเครือข่ายของหอการค้าไทย เข้ามาเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก
"หอการค้าไทย หวังว่าความช่วยเหลือเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นการส่งมอบกำลังใจจากความร่วมมือของเอกชนในส่วนต่าง ๆ ไปยังประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ ให้สามารถกลับมาเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วต่อไป" นายสนั่น ระบุ