กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยันผู้ติดโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) สายพันธุ์ใหม่รายแรกในไทย และผู้อยู่ใกล้ชิด หรือมีโอกาสเสี่ยง เข้าระบบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทุกคน พร้อมเข้มงวดด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เตรียมประชุมปรึกษาถึงแนวทางการใช้วัคซีนในวันที่ 6 ก.ย. นี้
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้กังวลผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1b (Mpox Clade 1b) รายแรกของไทย โดยขอยืนยันว่า กรมฯ มีการติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิด และผู้สัมผัสเสี่ยงทุกคนอย่างใกล้ชิด โดยมีการติดตามอาการทุกวัน ซึ่งขณะนี้นับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา (วันที่ผู้ป่วยรายแรกเดินทางมาถึงไทย) ยังไม่พบการติดเชื้อเพิ่มเติมแต่อย่างใด
สำหรับผู้ติดเชื้อที่พบ ได้ดำเนินการแยกรักษา และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยรายอื่น ซึ่งจะได้รับการรักษาจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ หรือตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำการป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ตามมาตรฐานการดูแลโรคอุบัติใหม่อย่างเคร่งครัด
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรคฝีดาษลิง ยังจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จึงเป็นเพียงขอความร่วมมือจากผู้สัมผัสใกล้ชิด และผู้สัมผัสเสี่ยงในการปฏิบัติตน
อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์ในการติดตาม เฝ้าระวังอาการ และควบคุมโรค ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำ 5 ข้อ จนกว่าจะครบ 21 วัน หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อ ได้แก่
1. สังเกตอาการด้วยตนเองทุกวัน อาทิ ไข้ ผื่นผิวหนัง ซึ่งมักปรากฏที่ใบหน้า แขนขา อวัยวะเพศ และลำตัว ไอ จาม และต่อมน้ำเหลืองโต หากมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที
2. รักษาความสะอาดส่วนบุคคล ล้างมือและทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ หรือเมื่อสัมผัสพื้นผิวสัมผัส
3. งดการมีเพศสัมพันธ์ หรือพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกหรือ น้ำลาย ระหว่างกัน
4. งดการใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น อุปกรณ์รับประทานอาหาร และเสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น และแยกทำความสะอาด
5. เก็บและจัดการขยะที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งของตนเองให้มิดชิด แยกจากขยะทั่วไป โดยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองโรค ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเที่ยวบินที่มาจากทวีปแอฟริกา ที่มีผู้เดินทางเข้ามาวันละประมาณ 300 คน ซึ่งจะมีแพทย์คอยดูแลทุกคน อีกทั้งสามารถตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการได้ที่สนามบิน
สำหรับกรณีการฉีดวัคซีนภายหลังการสัมผัส องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิด เช่น บุคคลในครอบครัว เป็นต้น ซึ่งจะใช้ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยจะมีการประชุมปรึกษาถึงแนวทางการใช้ในวันที่ 6 ก.ย. 67 นี้
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไป สามารถป้องกันตัวเองด้วยการงดการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลแปลกหน้า และหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ เพื่อความปลอดภัย