หอการค้าฯ ห่วงภาคเหนือท่วมอีกระลอก คาดเสียหาย 8 พันลบ. แนะรัฐตั้งศูนย์บริหารน้ำส่วนหน้า

ข่าวทั่วไป Monday September 2, 2024 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ และยังมีแนวโน้มที่ฝนจะตกเพิ่มอีกระลอก หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เบื้องต้นประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.05% ของ GDP (สมมติฐาน น้ำท่วมคลี่คลายภายใน 15 วัน)

ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายถึง 7,168 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 89.6% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมา เป็นภาคบริการ เสียหาย 693 ล้านบาท (8.66%) และภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 139 ล้านบาท (1.74%) โดยจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 3,632 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 2,034 ล้านบาท และสุโขทัย 1,359 ล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะฝนตกหลังเขื่อนที่อาจสร้างผลกระทบเพิ่มเติม ซึ่งหากสถานการณ์ยื้อเยื้อถึง 1 เดือน และขยายวงกว้าง อาจเสียหายรวมกว่าหมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.06% ของ GDP

นายสนั่น กล่าวว่า ในระยะสั้นหอการค้าไทย เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้การสั่งการและมอบหมายนโยบายข้ามกระทรวง เกิดการบูรณาการการทำงานอย่างคล่องตัว และจะต้องเตรียมแผนรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ตลอดจนปริมาณฝน ที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือนก.ย.และต.ค. ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ หากรัฐบาลมีแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจนก็จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจได้มาก

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล ว่าจะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เหมือนกับปี 2554 นั้น หอการค้าฯ มองว่ามีความเป็นไปได้น้อย โดยประเมินจาก 5 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1. ปริมาณฝนสะสมปี 2567 น้อยกว่า ปี 2554 โดยในปี 2554 มีปริมาณฝนสะสมทั้งปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% ขณะที่ปี 2567 มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ ม.ค.-20 ส.ค. ต่ำกว่าค่าปกติ 4%

2. จำนวนพายุที่คาดว่าจะเข้าประเทศไทยปี 2567 น้อยกว่า ปี 2554 โดยในปี 2554 มีพายุเข้าถึง 5 ลูก ขณะที่ปี 2567 คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่เข้าประเทศไทยเพียง 1-2 ลูก

3. ความสามารถในการรองรับน้ำของเขื่อนหลักปี 2567 ดีกว่าปี 2554 โดยณ วันที่ 30 ส.ค. 2567 เขื่อนหลัก 4 แห่งมีปริมาณน้ำใช้การ 7,208 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40% ของความจุ ยังรับน้ำได้อีก 10,967 ล้าน ลบ.ม. (เทียบกับปี 2554 ที่สามารถรับน้ำเพิ่มได้เพียง 4,647 ล้าน ลบ.ม.) แสดงว่าเขื่อนหลัก 4 แห่ง ยังมีความสามารถในการรองรับน้ำได้อีกมาก

4. แนวโน้มสถานการณ์น้ำในลำน้ำสายหลัก ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติถึงน้ำน้อย

5. ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 แม่น้ำเจ้าพระยา ยังไม่มากเท่ากับปี 2554 ซึ่งปี 2567 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,307 ลบ.ม./วิ (คาดการณ์สูงสุด 2,860 ลบ.ม./วิ) เทียบกับปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,284 ลบ.ม./วิ (ค่าสูงสุด 4,689 ลบ.ม./วิ)

"ดังนั้น แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์น้ำในปี 2567 มีความรุนแรงน้อยกว่าปี 2554 อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีความเป็นไปได้น้อย ที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเหมือนกับปี 2554" ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญทันทีหลังสถานการณ์ระดับน้ำลดลง และเข้าสู่ภาวะปกติคือ การช่วยเหลือ ซ่อมแซม และฟื้นฟู ให้ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ประชาชนที่บ้านจมหาย หรือเสียหายทั้งหลัง ควรได้รับเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือ ส่วนของภาคธุรกิจ ก็ต้องเร่งสำรวจจัดลำดับความเสียหาย

ทั้งนี้ หอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐ เร่งจัดมาตรการทางการเงินช่วยเหลือเช่น การพักชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือแม้แต่ Soft Loan เพื่อช่วยปรับปรุง ซ่อมแซม เครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ