นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเหนือว่า เรื่องนี้ได้เน้นย้ำ 2 ส่วน ดังนี้
1. ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนที่อยู่ภายใต้คันกั้นน้ำจะดูเรื่องจุดฟันหลอเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันคิดว่าจุดนี้ยังไม่มีผลกระทบหรือหากมีก็น้อยมาก แต่จุดที่จะได้รับผลกระทบ คือชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ เช่น ชุมชนแถวเทเวศร์ ชุมชนโรงสี และชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำรวมแล้ว 16 ชุมชน ซึ่งหากชุมชนเหล่านี้ต้องการสะพานไม้ กระสอบทราย หรือขาดเหลือในจุดใด เราพร้อมดูแลเต็มที่ ซึ่งจะดำเนินการจะคล้ายกับที่ท่าอิฐ จ.นนทบุรี เป็นชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำดังกล่าว จะได้รับผลกระทบหลักร้อยหลังคาเรือน
2.เรื่องน้ำฝน ต้องดูเรื่องการขุดลอกคูคลอง ปั๊มน้ำ ซึ่งเรามีการติดตามและเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ตลอด ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือประชาชน ต้องช่วยกันดูแลเรื่องการไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ คูคลอง การไม่เทน้ำมันลงท่อ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ท่อตัน น้ำระบายได้ไม่ดี
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการได้ดี แต่หากด้านตะวันออกน้ำเข้ามามาก ก็เป็นจุดที่ต้องกังวล เพราะคลองด้านตะวันออกเราระบายได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยากำลังการรับน้ำยังเหลือ วานนี้ (4 ก.ย.) ปริมาณน้ำที่สถานีจุดวัดน้ำเขื่อนบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 1,900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งความจุอยู่ที่ 3,600 ลบ.ม./วินาที จะเห็นว่ายังเหลือความจุอีกพอสมควร
ทั้งนี้ หากเกิดน้ำท่วมที่ชุมชนนอกคันกั้นน้ำ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ประชาชนในชุมชนนอกคันกั้นน้ำ มีชีวิตที่คุ้นเคยกับน้ำขึ้นน้ำลงอยู่แล้ว หากน้ำมาประชาชนก็ไม่ได้ต้องการอพยพ อย่างไรก็ดี ต้องดูความต้องการของประชาชนในชุมชนว่าต้องการอะไรเพิ่มเติม เช่น จัดกระสอบทรายเพื่อเป็นทางเดินเข้าบ้าน เป็นต้น