สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประเมินต้นเดือน ก.ย. ฝนตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ จะมีน้ำหลากไหลลงเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น วางแผนบริหารจัดการน้ำหลาก คาดการณ์ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาสูงสุดไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที เร่งระดมหน่วยงานทุกจังหวัดพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาร่วมวางแผนรองรับสถานการณ์เชิงป้องกันเพื่อดูแลประชาชน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานในส่วนกลาง และหน่วยงานในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประกอบด้วย จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝนในเดือน ก.ย. นี้ ที่มีการคาดการณ์ว่าปริมาณฝนมีแนวโน้มจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงฤดูฝน ทำให้เกิดฝนตกหนักขึ้นในหลายพื้นที่ ประกอบกับอยู่ในช่วงเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น "ยางิ" ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน และขึ้นฝั่งทางเกาะไหหลำ โดยจะเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน ประมาณเช้าวันที่ 8 ก.ย. นี้
ดังนั้น จึงคาดว่าในช่วงวันที่ 8-13 ก.ย. 67 จะมีฝนตกเพิ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (บริเวณแม่น้ำโขง) ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งได้มีการเตรียมพื้นที่รองรับน้ำในเขื่อนต่าง ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝนไว้แล้ว รวมถึงจะมีการใช้พื้นที่หน่วงน้ำ เช่น ทุ่งบางระกำ บึงบอระเพ็ด เพื่อใช้ในการลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาด้วย
สทนช. ได้เสนอแบบจำลองคาดการณ์ปริมาณน้ำจากสถานการณ์ฝนช่วงเดือน ก.ย. คาดว่าจะมีปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานี C.2 ที่ จ.นครสวรรค์เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปริมาณน้ำสูงสุดอยู่ที่ 2,000 ลบ.ม./วินาที และจะส่งผลให้ในช่วงวันที่ 9-10 ก.ย. 67 จะมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น อยู่ในอัตรา 1,500-2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งได้มีประเมินพื้นที่รับผลกระทบเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมในบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ของ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ดังนั้น จึงได้ขอให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมในเชิงป้องกันล่วงหน้า เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
นอกจากนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ยังได้ร่วมตรวจติดตามความพร้อมอาคารชลศาสตร์ คันกั้นน้ำจุดต่าง ๆ รวมถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำจังหวัดอยุธยา ตลอดแนวคลองโผงเผง คลองบางบาล อ.ผักไห่ และ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้วางแผนรองรับสถานการณ์ล่วงหน้าได้ด้วย
นายสุรสีห์ กล่าวว่า วันนี้ทุกหน่วยงานได้ร่วมเสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมของจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา โดยให้มีการบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ประกอบด้วย ย่านนิคมอุตสาหกรรม อุทยานประวัติศาสตร์ และพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของอาคารชลศาสตร์ คันกั้นน้ำ อุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องกล การประสานงานเครือข่ายความช่วยเหลือทั้งภาครัฐและเอกชน การแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงชุมชนกำนันผู้ใหญ่บ้านในทุกพื้นที่ การเตรียมการอพยพและศูนย์พักพิงสำหรับประชาชน การให้ความช่วยเหลือเยียวยา
ขณะเดียวกัน ขอให้กรมชลประทาน ประสานแจ้งแผนการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเป็นรายวันให้กับทุกจังหวัด เพื่อเตรียมการ รวมถึงแจ้งกรมเจ้าท่า เพื่อประกาศแจ้งเตือนผู้เดินเรือสินค้า และเรือโดยสาร สำหรับใช้วางแผนบริหารจัดการการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้ประเมินว่า สถานการณ์ฝนทางตอนบนของประเทศจะคลี่คลายลงในช่วงกลางเดือน ก.ย. 67 และจะเคลื่อนที่ลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาบริเวณภาคกลาง จึงมีมติให้ปิดศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ที่ จ.สุโขทัย และมาตั้งอยู่ที่ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 67 เป็นต้นไป