จากการคาดหมายลักษณะอากาศ ต้นเดือน ก.ย. ที่ปริมาณฝนมีแนวโน้มจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงฤดูฝน ประกอบกับอยู่ในช่วงเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น "ยางิ" ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน และขึ้นฝั่งทางเกาะไหหลำ โดยจะเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน ประมาณเช้าวันที่ 8 ก.ย. นี้ จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ และน้ำหลากไหลลงเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงเหมือนปี 54 หรือไม่
สำนักข่าว "อินโฟเควสท์" พาไปหาคำตอบกับ นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการ บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) และนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงกลางเดือนก.ย. ถึงกลางเดือนต.ค. ลานีญาจะเริ่มมีผลกระทบ ทำให้ฝนตกมากกว่าปกติ 5-10% และทำให้พายุเข้าไทยได้มากขึ้น โดยขณะนี้มีพายุจ่อรอในทะเลอยู่ทั้งหมด 2 ลูก แต่คาดว่าจะเข้าไทย 1 ลูก
สิ่งที่ต้องจับตา คือ พายุไต้ฝุ่น "ยางิ" แม้จะไม่ได้เข้าไทยโดยตรง แต่มีอิทธิพลกับไทยเนื่องจากพายุมีความรุนแรงมาก ประกอบกับร่องฝนที่เป็นร่องความกดอากาศต่ำที่ทำให้ฝนตกมาก ตอนนี้เลื่อนลงมาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง กลางตอนบน และพาดผ่านอีสานตอนบน ซึ่งพอพายุ "ยางิ" เข้ามาก็ทำให้ลมมรสุมมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ไทยได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 6-10 ก.ย. นี้
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่อง คือขณะนี้แม่น้ำโขงอยู่ระดับสูง ซึ่งพายุ "ยางิ" จะมีอิทธิพลไปถึงบริเวณขอบแม่น้ำโขง กระทบจังหวัดนครพนม บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร เลย น่าน และเชียงราย หรือซ้ำเติมน้ำท่วมตอนบน และจังหวัดที่มีลำน้ำ ลำห้วยไหลลงแม่น้ำโขง ก็จะไหลไม่สะดวก และเกิดน้ำท่วมหนักได้
ที่น่ากังวลอีกเรื่อง คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพราะขณะนี้ฝนตกที่อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ค่อนข้างมากซึ่งคาดว่าต้นต.ค. น้ำน่าจะเต็มความจุ และถ้ามีพายุเข้ามาอีกก็จะล้น และไหลลงมาอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และลงมาท่าเรืออยุธยา และถ้าน้ำเริ่มล้นอาจไหลมากรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ อีกสิ่งที่ต้องระวังสำหรับกรุงเทพและปริมณฑล คือ ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในคันกั้นน้ำ ซึ่งมีโอกาสระบายไม่ทัน สำหรับสัญญาณที่จะบอกได้ว่ามีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมขัง คือ ปริมาณฝนที่ตกหนัก หรือตกต่อเนื่อง จนเกินวันละ 60 มิลลิเมตร เนื่องจากระบบระบายน้ำข้างถนนจะรับไม่ไหว ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ต่ำในแต่ละพื้นที่ เช่น ในกรุงเทพฯ คือบริเวณแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด บางบัว บางเขน สะพานใหม่ ดินแดง บางนา และลาดกระบัง เป็นต้น โดยช่วงกลางเดือนก.ย. ถึงกลางเดือนต.ค. นั้นมีโอกาสที่ฝนจะตกเกิน 60 มิลลิเมตร/วัน ได้บ่อย ๆ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา เขตบางกะปิ เคยมีฝนตกหนักถึง 200 มิลลิเมตร/วันมาแล้ว
"พื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ น้ำจะท่วมตามน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งตอนนี้เริ่มมีท่วมขึ้นลงแล้วในพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ แถบอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ โดยการขึ้นลงของน้ำในเดือนต.ค. เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกปี แต่ถ้าเทียบแล้วน้ำจะมากกว่าปีที่แล้ว หรือเทียบเท่ากับปี 65" นายชวลิต กล่าว
สำหรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมาณฝนในส.ค. 67 อยู่ที่ 208.5 มิลลิเมตร น้อยกว่า ส.ค. 66 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 224 มิลลิเมตร ขณะที่ปริมาณฝนสะสมปี 67 อยู่ที่ 842.5 มิลลิเมตร มีค่าใกล้เคียงกับปี 66 อยู่ที่ 811.50 มิลลิเมตร