สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ก.ย. 67 ดังนี้
1. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ จ.น่าน (80 มม.), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี (118 มม.), ภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี (3 มม.), ภาคตะวันออก จ.ตราด (154 มม.), ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี (53 มม.) และภาคใต้ จ.ระนอง (138 มม.)
- สภาพอากาศวันนี้ ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
- คาดการณ์ช่วงวันที่ 18-21 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
2. สทนช. ประกาศ ฉบับที่ 14/2567 แจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงวันที่ 12-18 ก.ย. 67 ดังนี้
- จ.เชียงราย บริเวณสถานีเชียงแสน อ.เชียงแสน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 0.50-0.70 ม. ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 3.40 ม.
- จ.เลย บริเวณสถานีเชียงคาน อ.เชียงคาน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 3.00-3.60 ม. และคาดว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มสูงกว่าตลิ่ง 0.50-1.50 เมตร ในช่วงวันที่ 13-16 ก.ย. 67
- จ.หนองคาย บริเวณสถานีหนองคาย อ.เมืองหนองคาย และจ.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 3.50-3.90 ม. และคาดว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มสูงกว่าตลิ่ง 1.50-2.50 ม. ในช่วงวันที่ 13-16 ก.ย. 67
- จ.นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 2.00-2.60 ม. ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 0.50-1.30 ม.
ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำโขงและริมลำน้ำบางสาขา
3. สถานการณ์น้ำ สทนช. รุกต่อระดมหน่วยงานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นเอกภาพ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก สะแกกรัง และท่าจีน พร้อมทั้งเฝ้าติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของมวลน้ำที่ไหลลงมาสู่ภาคกลาง เพื่อประเมินสถานการณ์แก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที รวมถึงการแจ้งเตือนประชาชนหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อลดปัญหาการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง ในภาพรวมของอ่างเก็บน้ำยังคงมีพื้นที่รองรับน้ำได้อีก และมีการเตรียมความพร้อมพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำ 11 ทุ่งเพื่อเตรียมไว้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ขณะนี้กรมชลประทานได้สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ประธานศูนย์บริหารจัดการน้ำ (ชั่วคราว) ภาคกลาง ได้กำชับให้หน่วยงานต่าง ๆ เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือที่จะช่วยระบายน้ำในกรณีที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด
4. ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ
โดย ณ วันที่ 15 ก.ย.67 ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ 53,337 ล้าน ลบ.ม. (66%) มากกว่าปี 66 จำนวน 5,660 ล้านลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้การ 29,155 ล้าน ลบ.ม. (50%) แยกเป็นปริมาณน้ำรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 17,452 ล้าน ลบ.ม. (63%) ภาคอีสาน 6,720 ล้าน ลบ.ม. (56%) ภาคกลาง 738 ล้าน ลบ.ม. (37%) ภาคตะวันออก 1,750 ล้าน ลบ.ม. (56%) ภาคตะวันตก 22,082 ล้าน ลบ.ม. (78%) และภาคใต้ 4,595 ล้าน ลบ.ม. (59%) ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่น้ำมาก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง (82%) และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (71%)
5. สถานการณ์อุทกภัย วันที่ 15 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน (อ.สบเมย และปางมะผ้า), จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ เชียงของ แม่จัน แม่ฟ้าหลวง เชียงแสน และแม่สาย), จ.น่าน (อ.เวียงสา), จ.ตาก (อ.แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง และพบพระ), จ.สุโขทัย (อ.กงไกรลาศ), จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ บางระกำ และพรหมพิราม), จ.เพชรบูรณ์ (อ.หนองไผ่ และชนแดน), จ.เลย (อ.ปากชม และเชียงคาน), จ.หนองคาย (อ.เมืองฯ สังคม ท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ และรัตนวาปี), จ.อ่างทอง (อ.วิเศษชัยชาญ), จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา บางบาล บางปะหัน ผักไห่ บางไทร พระนครศรีอยุธยา และบางปะอิน), จ.ปราจีนบุรี (อ.เมืองฯ และประจันตคาม) และจ.สตูล (อ.ควนกาหลง และมะนัง)
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วม สธ. ได้แบ่งจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มรอรับน้ำโขงที่กำลังจะมาถึง เช่น อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร ให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมยาและเวชภัณฑ์ พร้อมสำรวจกลุ่มเปราะบางเพื่อเตรียมแผนเคลื่อนย้าย
2. กลุ่มที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เช่น เลย หนองคาย บึงกาฬ ให้เตรียมการป้องกันสถานบริการไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อให้สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลและที่ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ เช่นที่ หนองคาย เปิดศูนย์พักพิงรวม 17 แห่ง ก็ได้ระดมทีมด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งจังหวัดข้างเคียงและส่วนกลางเข้าสนับสนุนดูแล
3. กลุ่มที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ซึ่งจะต้องเร่งฟื้นฟู ให้เฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม ที่พบบ่อยคือ โรคฉี่หนู (leptospirosis) ต้องจัดระบบเฝ้าระวังและค้นหาสัญญาณการระบาดให้เร็ว เพื่อควบคุมโรคได้ทันท่วงที และออกคำแนะนำประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น ทีมกู้ชีพ/ กู้ภัย หากไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติลุยน้ำย่ำโคลน
สำหรับการดูแลด้านสุขภาพจิต ได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ออกปฏิบัติการควบคู่กับการดูแลด้านสุขภาพกาย โดยตั้งแต่ 16 ส.ค.-13 ก.ย. 67 ทำการประเมินและให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ทั้งผู้ประสบภัย ญาติผู้สูญเสีย/บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ และชุมชนวงกว้าง รวม 21,680 คน ในจำนวนนี้พบมีภาวะเครียดสูง 521 คน เสี่ยงซึมเศร้า 73 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการดูแลและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องแล้ว