นางรอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของระบบ Thai Water Plan วันที่ 17 ก.ย. 67 มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล่วงหน้า 72 ชั่วโมง โดยคาดการณ์จากปริมาณน้ำฝน ดังนี้
- ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน และแพร่
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และนครราชสีมา
- ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด จันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก
- ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง สตูล นราธิวาส และยะลา
นอกจากนี้ ต้องเฝ้าติดตามการก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีแนวโน้มเคลื่อนที่ลงสู่ทะเลจีนใต้ และทวีความรุนแรงเป็นพายุ และอาจเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน ช่วงวันที่ 20-22 ก.ย. นี้ด้วย
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศล่าสุด ระบุว่า พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 119.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และคาดว่าในช่วงวันที่ 20-21 ก.ย. 67 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักมากบางแห่ง และมีลมแรงในช่วงวันที่ 20-23 ก.ย. 67
ด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เพื่อป้องกันความเสียหาย และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย กระทรวงมหาดไทย โดย ปภ. ได้หารือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ผู้ให้บริการเครือข่าย AIS True และบมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ จะร่วมกันดำเนินการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) ทั้งการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12-24 ชั่วโมง และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน 6-12 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัย และสามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างทันท่วงทีและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ปภ. จะทำการติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงภัย และส่งข้อความ (SMS) แจ้งเตือนประชาชน ไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อทำการแจ้งเตือนประชาชนไปพื้นที่เสี่ยงภัย โดยสามารถทำการแจ้งเตือนภัยได้ทันทีหากมีสถานการณ์ภัยที่เป็นไปตามเกณฑ์ระดับการแจ้งเตือนภัย ตั้งแต่ระดับสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ดังนี้
- ระดับสีเหลือง: เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และเตรียมพร้อมอพยพกลุ่มเปราะบาง
- ระดับสีส้ม: ให้อพยพและปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้อพยพกลุ่มเปราะบางออกจากพื้นที่น้ำท่วม และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
- ระดับสีแดง: ต้องอพยพและปฏิบัติตามข้อสั่งการของเจ้าหน้าที่
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา พังงา ชุมพร ภูเก็ต และสตูล รวม 45 อำเภอ 192 ตำบล 934 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,831 ครัวเรือน
- ภาคเหนือ ขณะนี้ระดับน้ำได้ลดระดับลงแล้ว การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจึงมุ่งไปที่การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับมาสู่สภาพเดิมโดยเร็ว โดยปภ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครมูลนิธิ ส่งกำลังพลและอุปกรณ์เข้าฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน ถนนหนทาง เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ได้สั่งการ ปภ.จังหวัด ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
- ภาคอีสาน ปภ. ได้ระดมสรรพกำลังจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในภาคอีสาน ไปปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เป็นการล่วงหน้าแล้ว โดยได้กระจายกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลสาธารณภัยรองรับน้ำโขงที่ล้นตลิ่งและระบายน้ำออกจากพื้นที่ วางกระสอบทรายกั้นน้ำ รวมถึงอพยพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่เสี่ยงภัยที่คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ขึ้น
พร้อมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center: EOC) ที่ ปภ. เพื่อติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูล ประสานงาน และบริหารทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ตลอด 24 ชั่วโมง