นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในโอกาสเป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม Asean-MRC Water Security Dialogue ครั้งที่ 2 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาวว่า ขณะนี้การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติด้านน้ำ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยเหตุการณ์น้ำท่วมในแม่น้ำโขง ประเทศสมาชิกแม่น้ำโขงจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องการการสนับสนุนจากพันธมิตรอาเซียน ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ยังได้หารือความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำร่วมกับเมียนมา และ สปป.ลาว ตามนโยบายของรัฐบาล โดยการประชุมทวิภาคีกับเมียนมาได้หารือประเด็นสำคัญเร่งด่วนด้านความร่วมมือชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนบริเวณน้ำสาย-น้ำรวก และขอความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกันเพื่อติดตั้งสถานีวัดระดับน้ำในพื้นที่ต้นน้ำในเขตของเมียนมา การพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยร่วมกัน การขุดลอกลำน้ำพรมแดนที่ตื้นเขินที่เกิดจากตะกอนทับถมจำนวนมากจากเหตุการณ์อุทกภัย เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อชะลอน้ำ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนเพื่อควบคุมน้ำในช่วงน้ำหลาก การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ โดยการใช้มาตรการ Nature-based solution เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ทั้งนี้เมียนมายินดีให้การสนับสนุนและรับประเด็นเพื่อเสนอรัฐบาล รวมทั้งเห็นชอบในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อหารือในรายละเอียดต่อไป
ส่วนการประชุมทวิภาคีกับ สปป.ลาว ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างไทย-สปป.ลาว โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและการแจ้งเตือนภัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแม่น้ำโขงให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ การบริหารจัดทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เป็นการบริหารจัดการในลักษณะกลุ่มลุ่มน้ำ ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้กับ สปป.ลาว เพื่อให้เกิดประโยชน์และครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำโขง โดยสำหรับบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทย-สปป.ลาว คาดว่าจะมีการลงนามร่วมกันในการประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Council-MRC Council) ภายในเดือน พ.ย.นี้ พร้อมทั้งได้มีการเสนอโครงการร่วมวิจัยชุมชน (Joint Community Research) ระหว่างไทยและ สปป.ลาว เพื่อส่งเสริมอาชีพและการปรับตัวของชุมชน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ ช่วยเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับประชาชนริมฝั่งน้ำโขงของทั้งสองประเทศอีกด้วย