นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงความคิดเห็นหัวข้อ "การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก : นัยต่อประเทศไทย" ในการประชุมประจำปี 2567 ของ สศช. เรื่อง "พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย" ว่า นับตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมา ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการเป็นศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจโลกเหมือนในอดีต หลังจากเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก
ขณะที่ความรุนแรงของภูมิรัฐศาสตร์โลกนั้น ในด้านความมั่นคงจะมีตั้งแต่ความขัดแย้ง การกระทบกระทั่งกัน การเกิดเหตุถึงขั้นวิกฤต และการเกิดสงคราม ส่วนด้านเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การทำสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ขยายไปสู่เทคโนโลยีในหลายสาขา โดยผลกระทบที่เกิดขึ้น นำไปสู่ความไม่มั่นคงหลากมิติ ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การสูญเสียระบบนิเวศและทรัพยากร วิกฤตผู้ลี้ภัยและอาชญากรรมข้ามชาติ ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ต่าง ๆ
"สิ่งที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ จะนำไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ในช่วงปลายปี" นายดนุชา กล่าว
ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน การทะลักเข้าของสินค้าราคาถูกจากจีน ต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ต้องมีการวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ด้านนโยบายต่างประเทศที่เหมาะสม เพื่อรับมือความขัดแย้งระหว่างประเทศ การวางมาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการกีดกันทางการค้า การสร้างความร่วมมือในกลุ่มอาเซียน การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ การเจรจานำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์เกิดจากสหรัฐฯ ต้องการจัดระเบียบโลกใหม่ จากเดิมที่ให้กลุ่มสหภาพยุโรปดูแลเรื่องเศรษฐกิจ สหรัฐดูแลเรื่องความมั่นคงและระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกภิวัฒน์ และความร่วมมือระดับพหุภาคี โดยสหรัฐฯ มองว่าจีนเป็นปฏิปักษ์
"ไม่มีใครบอกได้ว่าสงครามโลกจะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อตอนรัสเซียกับยูเครนยังคาดการณ์ไม่ถูกเลย เรื่องนี้คาดได้ยากมาก" นายศุภวุฒิ กล่าว
ขณะที่แม้จะเป็นประเทศคู่ขัดแย้งกัน แต่ก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันเหมือนเดิม อย่างกรณีที่จีนต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากออสเตรเลีย เพราะกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ดังนั้นการวางบทบาทของประเทศจึงมีความสำคัญ หากสามารถสมดุลได้ ก็จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งน่าจะเกิดความเสี่ยงสูง แต่หากเป็นนางคามาลา แฮร์ริส ท่าทีน่าจะเหมือนกับนายโจ ไบเดน และมองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะมียอดขาดดุลสูง หนี้สาธารณะสูง ในระยะยาวน่าจะปรับดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 5%
"ทั้งจีนและสหรัฐฯ มีจุดอ่อนและจุดแข็งต่างกัน ทำให้ประเมินได้ยาก บางทีจุดยืนที่เหมาะสม เราอาจต้องเหยียบเรือสองแคม" นายศุภวุฒิ กล่าว
ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาการส่งออก 60% และการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะยืดเยื้อยาวนาน กรณีดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มอาเซียนตกอยู่ในสถานะต้องเลือกข้าง ดังนั้นกลุ่มอาเซียนจะต้องเกาะกลุ่มกันให้เหนียวแน่น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าการส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย โดยทั้งปีมีอัตราการเติบโต 2.0-2.5% ถึงแม้จะเกิดวิกฤต แต่ยังมองเห็นโอกาสอีกมาก ซึ่งจากการเดินทางไปดูงานที่จีนกลาง และจีนตะวันออก พบว่ายังมีสินค้าของไทยส่งไปขายน้อยกว่าเวียดนาม
ขณะที่นายดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ควรบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนในระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาแทรกอยู่ทุกองคาพยพ ประกอบด้วยองค์ความรู้ทั้งด้านภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และการทหาร ซึ่งเป็นวิชาต้องห้ามสำหรับชนชั้นปกครองในสมัยก่อน
นายวิษณุ อรรถวานิช กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า มีข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน โดยด้านอาหารนั้น ควรเปลี่ยนรูปแบบการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า เป็นแบบมีเงื่อนไข พร้อมให้ความรู้และหลักประกันความเสียหาย เพื่อจูงใจให้มีการปรับใช้เทคโนโลยี และควรเพิ่มที่ปรึกษาทางการเกษตร
ส่วนด้านพลังงาน ควรคำนึงถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและพลังงานในอนาคต ควรเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานหมุนเวียน