นายเสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร และที่ปรึกษาด้านการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงภัยพิบัติ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา (FutureTales LAB by MQDC) และผู้เชี่ยวชาญ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) เปิดเผยในงานสัมมนา "โลกรวนในโลกร้อน" ว่า หลังจากนี้ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จะต้องเผชิญความท้าทายด้านภูมิอากาศ ทั้งความแห้งแล้งที่หนักขึ้น และน้ำท่วมที่หนักขึ้น ในระดับความถี่ที่มากขึ้น และยังไม่มีความแม่นยำในการคาดการณ์ล่วงหน้าในระยะยาวได้
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในปี 67 นี้ มองว่า ผลจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และโดยเฉพาะน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย คาดความเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท ต้องยอมรับว่าการทำงานของรัฐล้มเหลว แม้หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะรวบรวมข้อมูลบูรณาการเพื่อส่งให้หน่วยงานต่าง ๆ แล้ว แต่สุดท้ายประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ได้รับข่าวสาร หนีน้ำท่วมไม่ทัน หน่วยงานต่าง ๆ ก็ต่างคนต่างเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่มีศูนย์กลางคอยบัญชาการ ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากการที่มีช่องว่างในการทำงานระหว่างหน่วยงาน และท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นเองก็ประสบปัญหาว่าได้รับข่าวสารจากหลายหน่วยงานมากเกินไป และสุดท้ายแล้วต้องเชื่อข้อมูลชุดไหน
ดังนั้น มองว่าถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรี จะต้องทุบโต๊ะบูรณาการหน่วยงานร่วมกันว่า จะให้ข้อมูลหลักมาจากหน่วยงานใด ใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง และในการตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ก็ควรแยกหน่วยงานที่มีอำนาจสั่งการ ออกจากหน่วยงานที่ต้องปฎิบัติหน้าที่ เพื่อให้การพูดคุย และการสั่งงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เสียเวลา ขณะเดียวกัน สุดท้ายแล้วท้องถิ่นที่ได้รับข้อมูล ก็ต้องนำไปบริหารจัดการในพื้นที่ให้ดีด้วย
นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์ระดับน้ำ สะพานนวรัตน์ (สะพานข้ามแม่น้ำปิง) จังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าระดับน้ำจะขึ้นจาก 4 เมตรกว่า เป็น 4.50-5.00 ม. ภายในวันที่ 26 ก.ย. นี้ ดังนั้น ตัวเมืองเชียงใหม่จะได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง และทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ทั้งนี้ สทนช. ได้ประเมินและแจ้งข้อมูลไปยังทีมงานของนายกฯ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แล้ว ซึ่ง ปภ. เองก็สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้แล้ว
ล่าสุด นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จะรับหน้าที่ดูเรื่องน้ำ โดยอยู่ระหว่างการร่างคำสั่งตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อบูรณาการสรุปประเมินปริมาณน้ำ และรับหน้าที่ให้ข้อมูลหลักเรื่องน้ำ และเป็น Single Command ทำหน้าที่ตัดสินใจว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป และส่งต่อให้คณะใหญ่ เพื่อให้พิจารณาสั่งการอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับประเด็นที่แม่น้ำสาย ที่มีข้อมูลสถานีวัดน้ำเพียงจุดเดียวนั้น และขณะนี้ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากได้พังทลายจากน้ำหลากไปแล้ว รวมทั้งในประเทศเมียนมา ไม่มีจุดติดตั้งสถานีวัดน้ำที่จะสามารถรับรู้สถานการณ์น้ำบริเวณต้นน้ำได้ ด้าน เลขาธิการสทนช. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการแม่น้ำโขง และคณะกรรมการล้านช้างแม่โขง ของประเทศจีน โดยได้บทสรุปว่า วันที่ 28 ต.ค.นี้ จะติดตั้งสถานีวัดน้ำในเมียนมา 3 จุด และจะได้รับงบประมาณจากจีนในการจัดทำระบบ Early warning ให้แม่น้ำสายโดยเฉพาะแล้ว
"เรามีข้อมูล เราให้ข้อมูลไปแล้ว จะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพให้เครือข่ายที่รับข้อมูล โดยเฉพาะ ปภ. และกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี พยายามมาซักซ้อมว่าข้อมูลมาแล้วจะเตรียมการอย่างไร ก็จะเป็นเรื่องที่ดี และหน่วยงานหลักที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น ทำอย่างไรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียนรู้สถานการณ์ และเรียนรู้ระบบว่าข้อมูลที่ได้ไปนั้น บ่งบอกว่าเสี่ยงกับชุมชน หรือพื้นที่อย่างไร ในส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนที่สามารถปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพได้ในระยะใกล้นี้" นายฐนโรจน์ กล่าว
นายเจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และผู้ก่อตั้ง FB Page ฝ่าฝุ่น กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือในปีนี้แตกต่างจากเดิม เนื่องจากประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องดิน ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ปริมาณน้ำฝนปีนี้มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กลับเกิดน้ำท่วม ดินถล่ม สร้างความเสียหายจำนวนมาก เนื่องมาจากชั้นดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะดินบริเวณภาคเหนือที่ผ่านไฟป่ามาแล้วหลายพื้นที่ และหลายครั้ง ซึ่งไฟป่านั้นไม่ได้เผาแค่ต้นไม้ แต่ยังเผาดินไปด้วย และกว่าดินจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ดังเดิมก็ต้องใช้เวลากว่า 6-7 ปี ดังนั้น ต้องมีข้อมูลเรื่องการเกิดไฟป่าว่าเกิดขึ้นในพื้นที่ใดบ้าง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เพื่อรับมือสถานการณ์ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม ที่จะเกิดในอนาคตได้
นางสิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ตอบคำถามที่ว่าปีนี้น้ำจะท่วมหนักเหมือนปี 54 หรือไม่ ว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือปีนี้ มีความหนักหน่วงไม่ต่างจากน้ำท่วมภาคกลางในปี 54 แม้น้ำจะมาเร็วไปเร็ว แต่สร้างความเสียหายมาก
อย่างไรก็ดี ไม่สามารถเทียบสถานการณ์น้ำท่วมของปีนี้กับปี 54 ได้ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่า ต่อให้ปริมาณน้ำปีนี้จะน้อยกว่าปี 54 แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากกว่าปี 54 เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของไทยเปลี่ยนแปลงไปหลายปัจจัย เหตุจากการกระทำของมนุษย์ ดังนี้
1. น้ำท่วมปีนี้ส่วนใหญ่เป็นดินโคลนถล่ม ซึ่งน้ำที่ท่วมปีนี้มาจากการกัดเซาะหน้าดิน เนื่องจากปริมาณป่าไม้ที่ลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี
2. การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
3. การรุกล้ำลำน้ำ ทำให้ทางน้ำแคบลง ทั้งการสร้างแพ โรงแรมต่าง ๆ
4. โครงสร้างทางชลศาสตร์ที่อาจทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดภัยมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น คันกั้นน้ำที่กักเก็บมวลน้ำ ซึ่งทำให้น้ำมีโมเมนตัมมากขึ้น และเมื่อเกิดการเสื่อมสภาพ และแตก ก็จะสร้างความเสียหายรุนแรงได้
ทั้งนี้ เหตุจากการกระทำของมนุษย์ เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปล่อยมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์ ล้วนส่งผลทำให้ปริมาณฝนผิดปกติ ซึ่งถ้าปีใดฝนตกมากกว่าปกติ ก็จะเกิดน้ำท่วมหนักมากขึ้น ในขณะเดียวกันหากปีใดฝนน้อยกว่าปกติ ก็จะแห้งแล้งหนักมากเช่นกัน
สำหรับการบริหารจัดการน้ำ มีทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการทั้งด้าน Supply Side และ Demand Side โดย สทนช. ในฐานะ Regulator ด้านน้ำของประเทศ ต้องผลักดันให้เกิดกลไกจัดการน้ำในภาวะวิกฤติแบบ Single Command ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 ให้เกิดขึ้นให้ได้
อย่างไรก็ดี ภายใต้การผันแปรและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีปัจจัยความไม่แน่นอนมากมาย ซึ่งทุกพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยธรรมชาติได้ และขณะนี้ก็ยังยากต่อการคาดการณ์ได้ ดังนั้น การจะลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น คือต้องมีกลไกแจ้งเตือนภัยอย่างเป็นระบบ
"ตอนนี้ ความช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปคนละทิศละทาง ของบางอย่างไปกระจุกตัวอย่างบางจุด ในขณะที่บางจุดไม่ได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น จำเป็นต้องมี Single Command ทำงานเป็นระบบระเบียบ เช่นเดียวกับสถานการณ์ทีมหมูป่าติดถ้ำ เป็นต้น" นางสิตางศุ์ กล่าว