ล้อมคอกเหตุรถบัสไฟไหม้ คุมเข้มตรวจสภาพรถใช้ก๊าซ CNG ทุกคัน

ข่าวทั่วไป Wednesday October 2, 2024 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีอุบุติเหตุรถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เกิดเหตุเพลิงไหม้วานนี้ว่า กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบสาเหตุการระเบิดของรถบัส และสามารถป้องกันได้อย่างไร โดยจะเชิญสภาวิศวกรรมสถาน เข้ามาร่วมด้วยเพื่อตรวจสอบโครงสร้างของรถว่าสามารถบรรทุกผู้โดยสารจำนวนเท่าไหร่ ควรปรับปรุงอย่างไร รวมถึงทางออกฉุกเฉิน และตรวจสอบสภาพรถ เชื้อเพลิง ให้ครอบคลุมรถโดยสารทุกประเภท คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ น่าจะมีแนวทางออกมาชัดเจน

จากการรายงานของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุว่า รถคันเกิดเหตุเป็นรถโดยสารชั้นเดียว ยางล้อหน้าทั้งซ้ายและขวาไม่พบร่องรอยการระเบิด ประตูฉุกเฉินด้านหลังขวาสามารถใช้งานได้ มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยครบ ได้แก่ ประตูฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ซึ่งทีมสอบสวนอุบัติเหตุ ขบ. จะร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานทำการลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงลึกในวันนี้ โดยใช้เครื่องมือในการตัด ถ่าง ยกรถ ถอดล้อ เพื่อตรวจสอบการติดตั้งก๊าซ CNG ระบบห้ามล้อ ระบบบังคับเลี้ยว เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเพลิงไหม้

*สั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท-คนขับรถ

ขณะที่มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย ในส่วนของผู้ประกอบการขนส่งและผู้ขับรถ ทางกรมการขนส่งทางบกได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งของน.ส.วปาณิสรา ชินบุตร ในทันที และหากตรวจสอบพบว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความบกพร่องผู้ประกอบการขนส่ง จะทำการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งต่อไป ขณะเดียวกันยังได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถของนายสมาน จันทร์พุฒ ในทันที และหากตรวจสอบพบว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากผู้ขับรถจะทำการเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป อีกทั้งสั่งยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) ของนางกนิษฐา ชินบุตร พร้อมทั้งตรวจสอบการดำเนินงานของสถานติดตั้งตรวจและทดสอบรถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงบริษัท ออลเทอร์เนทีฟ รีซอส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หากพบว่ามีความผิดจะเพิกถอนหนังสือรับรองต่อไป

*คุมเข้มตรวจสภาพรถใช้ก๊าซ CNG ทุกคัน

ในส่วนของมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำนั้น กรมการขนส่งทางบก เตรียมเรียกรถโดยสารสาธารณะที่ติดตั้งเชื้อเพลิง CNG ทั้งหมด เข้ารับการตรวจสภาพซ้ำ ณ สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ

รวมถึงกำหนดมาตรฐานการใช้รถโดยสารสาธารณะไปทัศนศึกษา กล่าวคือ การเลือกใช้ผู้ประกอบการขนส่งและยานพาหนะที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดจะให้ความร่วมมือในการพิจารณาคัดเลือก ในส่วนมาตรการในการเดินทางสำหรับเด็กนักเรียนให้เกิดความปลอดภัย เช่น สัดส่วนครูต่อนักเรียนในการเดินทาง แนะนำการใช้อุปกรณ์นิรภัย (เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก ทางออกฉุกเฉิน ถังดับเพลิง เป็นต้น) ด้านการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะต้องมีการวางแผนการเดินทางโดยบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง TSM ได้แก่ การเลือกเส้นทาง การกำหนดจุดพัก การตรวจสภาพความพร้อมของรถและผู้ขับรถ พร้อมด้วยบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำคู่มือและให้สำนักงานขนส่งจังหวัดให้คำแนะนำแก่โรงเรียนต่าง ๆ

ขณะนี้มีไอเดียในการนำเสนอรูปแบบการอพยพ คล้ายการบริการบนเครื่องบินของพนักงานต้อนรับ เพื่ออธิบายเส้นทางฉุกเฉินและจะต้องทำอย่างไรบ้างเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะออกมาตรการบังคับให้กับรถโดยสารที่ต้องอธิบายให้ผู้โดยสารเข้าใจเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และลดความรุนแรงลง นอกจากนี้จะมีการออกมาตรการเร่งด่วน และระยะยาว เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำด้วย

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ที่ใช้เชื้อเพลิง CNG ที่มีทั้งหมดจำนวน 13,426 คัน (ข้อมูล ณ 30 ก.ย.) แบ่งเป็นรถโดยสารประจำทางจำนวน 2,935 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ 30) จำนวน 1,0491 คัน เข้ารับการตรวจสภาพรถซ้ำ ให้เรียบร้อยภายใน 60 วัน โดยกลุ่มแรกให้เร่งตรวจรถไม่ประจำทางจำนวน 2,935 คัน ก่อน

สำหรับกรณีนำรถเช่าเหมาหรือรถโดยสารไม่ประจำทาง (30) ไปใช้บริการ ให้กรมการขนส่งทางบกบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาและสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยประสานงานกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง

เพิ่มเติมเงื่อนไขในใบอนุญาต ให้มีพนักงานประจำรถโดยสารประจำทาง (30) เช่นเดียวกับรถโดยสารประจำทาง โดยพนักงานและผู้ประจำรถต้องได้รับการอบรมและผ่านการทดสอบหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสาร (Crisis Management) ซึ่งคาดว่าดำเนินการได้ภายใน 1 เดือน

ออกกฎหมายระเบียบเพื่อให้ผู้ประกอบการต้องแนะนำข้อมูลและแนวทางเผชิญเหตุฉุกเฉินในการใช้บริการ (เช่นเดียวกับสายการบิน) ก่อนออกรถเดินทางทุกครั้ง โดยใช้การสาธิตการปฎิบัติเพื่อเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุ ในรูปแบบวีดีโอหรือเจ้าหน้าที่แนะนำ เหมือนรถโดยสารประจำทาง

ศึกษาทบทวนกฎหมาย ระเบียบ ที่กำหนดเกี่ยวกับ มาตรฐานรถ และอายุการใช้งานของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประกอบการ การตรวจสภาพ การให้บริการ เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทาง (30) ทั้งระบบเพื่อให้ทมันต่อเหตุการณ์

"วันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับมาตรฐานทุกมิติ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ซึ่งต้องยอมรับว่า ตั้งแต่เกิดโควิด ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ แต่ถึงเวลาต้องปรับปรุงรถที่เป็นบริการสาธาณะ จึงฝากถึงผู้ประกอบการขอให้ช่วยตรวจสอบรถ พนักงานขับรถ และผู้ประจำรถ หากต้องปรับปรุงและลงทุนเพิ่มก็ต้องทำให้เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียอีกต่อไป"นายสุรพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ