กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รายงานผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 835,553 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 337ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 325 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 8 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 3 ข้อความรวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 182 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 101 เรื่อง
อันดับที่ 1 : เรื่อง เหยื่อจากคอลเซ็นเตอร์ ลงทะเบียนขอรับเงินคืน 3 ช่องทาง ผ่านเพจ ศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์
อันดับที่ 2 : เรื่อง เปิดให้ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ เริ่มต้น 1,200 บาท ผลตอบแทน 10 - 30% กำกับดูแลโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 3 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ สอนเล่นหุ้น ให้คำปรึกษาแนะนำการซื้อขาย เริ่มต้นที่ 1,000 บาท
อันดับที่ 4 : เรื่อง เหยื่อคอลเซ็นเตอร์ลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิเพื่อรับเงินคืนได้ ผ่านทางเพจหน่วยงานต่อต้านภัยสังคม ทางเทคโนโลยี
อันดับที่ 5 : เรื่อง ป.ป.ท. เปิดเพจรับแจ้งความออนไลน์ ติดต่อตำรวจสอบสวนกลางได้โดยตรง
อันดับที่ 6 : เรื่อง ปปง. เปิดให้ผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์แจ้งลงทะเบียนขอรับเงินคืนได้ ผ่านเพจ Crime Suppression Division
อันดับที่ 7 : เรื่อง กรุงไทยใจป้ำ สินเชื่อเพื่อเดอะแบก วงเงินอนุมัติสูงสุดถึง 10 เท่าของรายได้ต่อเดือน สูงสุด 3 ล้านบาท
อันดับที่ 8 : เรื่อง กรุงไทยเปิดให้ลงทุนระยะสั้น 1,125 บาท รับ 398 บาท ลงทุนระยะยาว 3,295 บาท รับ 1,129 บาท ผ่านเพจ Krungthai KTX Life
อันดับที่ 9 : เรื่อง ปปง. จับมือ 2 ธนาคาร คืนเงินเหยื่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เปิดให้ลงทะเบียนขอรับเงินคืน ผ่านทางเพจสมาคมเสริมสร้างภัยทางออนไลน์
อันดับที่ 10 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรม เปิดเพจเฟซบุ๊ก กรมคุ้มครองสิทธิ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชน
โดยข่าวปลอมอันดับ 1 เรื่อง "เหยื่อจากคอลเซ็นเตอร์ ลงทะเบียนขอรับเงินคืน 3 ช่องทาง ผ่านเพจ ศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์" กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบพบว่า ข้อมูลในสื่อออนไลน์ดังกล่าวเป็น "ข้อมูลปลอม" สร้างขึ้นโดย "มิจฉาชีพ" และ เพจดังกล่าวไม่ใช่เพจของสำนักงาน ปปง. โดยเพจจริงของสำนักงาน ปปง. ชื่อ "สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน - ปปง." มีสัญลักษณ์ติ๊กถูกสีฟ้า (Meta Verified) อยู่ด้านหลังชื่อเพจ ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว (ลิงก์:https://www.facebook.com/AMLOTHAILAND/) และปปง. ไม่เคยเปิดเพจเฟซบุ๊กอื่นเพื่อรับคำร้องหรือช่วยเหลือผู้เสียหายผ่านเพจเฟซบุ๊กใด ๆ ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ตามประกาศของ ปปง. ที่เปิดสิทธิให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธินั้น หากข้อเท็จจริงของผู้เสียหายตรงกับข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในประกาศของ ปปง. แล้ว ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องได้ 3 ช่องทางได้แก่
1. ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
2. ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
3. ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด (จะมีการระบุไว้ในประกาศฯ)
ทั้งนี้ปปง. กำหนดให้ยื่นคำร้อง ผ่าน 3 ช่องทางข้างต้นนี้เท่านั้น ไม่มีการมอบหมายให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคดี หรือยื่นเอกสารผ่านช่องทางในสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทางแต่อย่างใด
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถติดต่อสอบถาม ปปง.ได้ที่โทร 02-219-3600