นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช. ส่วนหน้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศปช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำปิงที่เอ่อล้นเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่า ระดับน้ำที่ จุด P.1 สะพานนวรัฐ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง คาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับตลิ่งที่ 3.70 เมตร ได้ภายในวันนี้
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามมวลน้ำจำนวนมากจากแม่น้ำปิง ที่เคลื่อนตัวผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ พบว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำปิง ซึ่งขณะนี้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สารภี อ.หางดง และ อ.สันป่าตอง เคลื่อนย้ายสัตว์ สิ่งของ ยานพาหนะขึ้นที่สูง และให้อพยพผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบาง ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ประสบอุทกภัย จ.เชียงใหม่ และสถานที่ปลอดภัย ภายใน 24 ชั่วโมง หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านสายด่วน 1567 ได้ทันที
สำหรับพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ จ.ลำพูน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนภัยระดับ 3 ในพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง 7 ตำบล ของอำเภอเมืองลำพูน จ.ลำพูน ได้แก่ ตำบลเหมืองง่า ตำบลอุโมงค์ ตำบลต้นธง ตำบลประตูป่า ตำบลริมปิง ตำบลหนองช้างคืน ตำบลมะเขือแจ้ ให้เตรียมรับสถานการณ์ ขนย้ายสิ่งของ และอพยพกลุ่มเปราะบาง
"จากการประเมินปริมาณน้ำที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ บางจุด เช่น ต.หนองผึ้ง อาจมีน้ำท่วมสูง 0.8-1.5 ม. เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่มต่ำของ จ.ลำพูน อาจเจอระดับน้ำสูง 0.8-1.5 ม. ได้เช่นกัน ส่วนพื้นที่ อ.เมืองลำพูน ระดับน้ำจะน้อยกว่าอยู่ที่ระดับ 0.3 - 0.5 ม. ขอให้บ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ และมีกลุ่มเปราะบาง ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย" นายจิรายุ กล่าว
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 16 จุด รองรับประชาชนได้ 890 คน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าพักจริง 203 คน ส่วนการดูแลกลุ่มเปราะบาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สวนปรุง รพ.มหาราช นครเชียงใหม่ และ รพ.ประสาทเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ 41 คน นอกจากนี้ ยังมีการระดมทีม MCATT ประกอบด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช และสหวิชาชีพ เข้าดูแลสภาพจิตใจผู้ประสบภัย ซึ่งส่วนใหญ่มีภาวะความเครียดสะสมในระดับสูง
ด้านการระบายน้ำ กรมชลประทาน ได้นำเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำ พร้อมกำจัดวัชพืชที่ขวางทางน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และให้น้ำไหลลงไปยังเขื่อนภูมิพลโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ ปริมาณกักเก็บของเขื่อนภูมิพล ยังอยู่ที่ระดับ 9,321 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 69% ของความจุเขื่อนเท่านั้น
นายจิรายุ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ยังคงการระบายน้ำอยู่ที่ปริมาณ 2,200 ลบ.ม./วินาที และได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อน เพื่อให้ปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาคงที่และต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบให้กับที่ท้ายน้ำ