เตือน! ภาคใต้ตอนบนเตรียมรับมือฝนตกหนักสัปดาห์นี้

ข่าวทั่วไป Wednesday October 9, 2024 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนในช่วง 1-2 วันนี้มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณฝนอยู่ที่ 100-140 มม. หากมีการตกต่อเนื่องจนปริมาณฝนเกิน 200 มม. สะสมในพื้นที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์น้ำหลากได้ ขอให้ประชาชนฟังรายงานของ ศปช. และหน่วยงานราชการอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังในบริเวณภาคใต้ในช่วงที่ 9-11 ต.ค.67 โดยจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำจำนวน 552 เครื่องในบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีและสั่งการเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเครื่องผลักดันน้ำ 227 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 44 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ อีก 277 หน่วย

ในส่วนของ จ.ยะลา เมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) ได้รับการแจ้งเหตุดินถล่ม 5 จุด บริเวณเส้นทางเข้าสวนดอกไม้เมืองหนาว บ้านปิยะมิตร หมู่ที่ 2 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ส่งผลให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ทั้งนี้ แขวงทางหลวงชนบทยะลาได้นำเครื่องจักรกลเข้าเปิดเส้นทางได้ทุกจุดแล้ว รถทุกชนิดสามารถสัญจรได้ กรมทรัพยากรธรณีได้มีการประกาศเฝ้าระวังและมีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำป่า ดินถล่ม ช่วงวันที่ 9-11 ต.ค.67 ในพื้นที่สวนผึ้ง บ้านคา จ.ราชบุรี, หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี , หัวหิน ปราณบุรี กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ , เบตง ธารโต ยะหา จ.ยะลา

*แนวโน้มน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลง

สำหรับปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท อยู่ที่ 2,318 ลบ.ม./วินาที ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ โดยมีการระบายน้ำในอัตราคงที่ 2,199 ลบ.ม./วินาที

"หากนำไปเปรียบเทียบกับปี 54 มีการระบายน้ำอยู่ที่ 3,703 ลบ.ม./วินาที จำนวนระบายน้ำยังไม่มีความน่ากังวลใจ อีกทั้งในสัปดาห์นี้ ภาคเหนือและภาคกลางมีปริมาณฝนเริ่มลดลงแล้ว ศปช.ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 54 อย่างแน่นอน โดยส่วนราชการที่บริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่าง ๆ รายงานว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 13- 24 ต.ค.นี้ ส่วนการเตรียมความพร้อมในพื้นที่กรุงเทพฯ-นนทบุรี ได้มีการเตรียมการป้องกันพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันการเอ่อล้นเข้าพื้นที่บ้านเรือนประชาชน" นายจิรายุ กล่าว
*สทนช.เตรียมตั้งศูนย์ส่วนหน้าภาคใต้รับมือสถานการณ์

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงแนวโน้มปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ในระยะนี้และช่วงหลังจากนี้ สทนช.จึงเตรียมพิจารณาตั้งศูนย์ส่วนหน้าในภาคใต้เพื่อดำเนินงานเชิงรุก ทั้งคาดการณ์สถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ โดยได้มีการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานในฤดูฝนที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากในระยะที่ยังไม่ได้ฝนตกหนักมากนัก โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 9-12 ต.ค.67 สทนช.ได้ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง บริเวณ จ.ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมกันนี้ได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยรายอำเภอล่วงหน้า 3 วัน จากปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร ได้แก่ จ.พังงา อ.ตะกั่วป่า กะปง ท้ายเหมือง เมืองพังงา คุระบุรี จ.ยะลา อ.กาบัง ยะหา เบตง ธารโต จ.สงขลา อ.สะเดา คลองหอยโข่ง นาทวี สะบ้าย้อย จ.สุราษฎร์ธานี อ.เวียงสระ จ.ตรัง อ.เมืองตรัง ห้วยยอด นาโยง วังวิเศษ จ.สตูล อ.ควนกาหลง จ.กระบี่ อ.เมืองกระบี่ คลองท่อม ซึ่ง สทนช.ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ