ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2568-2570 จากการลงคะแนนเลือกตั้งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ด้วยคะแนนสูงสุดถึง 177 คะแนน ในกลุ่มประเทศเอเชีย - แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นคะแนนสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภูมิภาค
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิก UNHRC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 โดยจะมีวาระ 3 ปี ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับเลือก รวมทั้งสิ้น 18 ประเทศ ได้แก่ ไทย เบนิน โบลิเวีย โคลอมเบีย ไซปรัสเช็ก คองโก เอธิโอเปีย แกมเบีย ไอซ์แลนด์ เคนย่า หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก มาเซโดเนียเหนือ กาตาร์ สเปน เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์
"รัฐบาลเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิก UNHRC จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ พร้อมเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยการได้รับเลือกครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ร่วมกันต่อไป" นายจิรายุ กล่าว
ในอดีตประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก UNHRC ระหว่างปี 2553 -2556 โดยประเทศไทย ได้ดำรงตำแหน่งประธาน UNHRC ระหว่างเดือนมิถุนายน 2553 ถึงเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทบทวนสถานะ และการทำงานของ UNHRC ซึ่งประเทศไทย ในฐานะประธานฯ ได้นำการหารือ และเจรจาจนสามารถบรรลุฉันทามติในเรื่องดังกล่าวได้
นอกจากนั้น ประเทศไทยในฐานะสมาชิก UNHRC เมื่อปี 2554 ยังได้ริเริ่มการเสนอข้อมติรายปีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชน (Enhancement of Technical Cooperation and Capacity Building in the Field of Human Rights) ในกรอบ HRC ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ยกร่าง (penholder) ของข้อมติดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน