จากสถานการณ์พื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วม และส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานครได้มีการติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่ตลอดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้
กรุงเทพมหานคร ได้วางมาตรการรับมือน้ำ คือ
- 2 มาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือ-น้ำหนุน ประกอบด้วย
1. ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม โดยแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ของกทม. จากด้านใต้ถึงด้านเหนือ มีระดับสูง +2.80 ถึง 3.50 ม.รทก. (เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง) แนวริมแม่น้ำ 88 กม. เป็นแนวป้องกันของกทม. 80 กม. แนวฟันหลอ 4.35 กม. (32 แห่ง) แนวของเอกชนและหน่วยงานอื่น 3.65 กม. (12 แห่ง)
สำหรับแนวฟันหลอ 32 แห่ง กรุงเทพฯได้ดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ 14 แห่ง เช่น สะพานปลา ชุมชนวังหลัง ฯลฯ กำลังจะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง เช่น วัดเทพนารี ฯลฯ (รวมความยาวที่แก้ไขได้ 2 กม.) และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 9 แห่ง ส่วนแนวป้องกันของ กทม. ที่รั่วซึม 76 แห่ง ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ 45 แห่ง กำลังจะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7 แห่ง
ทั้งนี้ จุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำเหนือน้ำหนุนบริเวณช่องเปิดท่าเรือต่าง ๆ รวมถึงบริเวณที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยมาตรการชั่วคราวโดยการเรียงกระสอบทราย ที่ระดับความสูง +2.30 ถึง +2.70 ม.รทก. และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทั้งนี้ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำสูงสุดที่จุดวัดน้ำปากคลองตลาด สูงประมาณ +1.50 ม.รทก. จากอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง (ระดับคันกั้นน้ำ +3.00 ม.รทก.) ไม่กระทบต่อแนวพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ
2. การเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยกรุงเทพฯได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำหรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ คอยติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและเตรียมการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ
พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงเพียงพอและมีความแข็งแรงสามารถป้องกันน้ำได้ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวด้วยกระสอบทราย การทำสะพานทางเดินชั่วคราว การให้ความช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำรับทราบสถานการณ์น้ำเหนือ และน้ำหนุน และจัดเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังตามจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
- 3 มาตรการพร้อมรับสถานการณ์น้ำฝน ประกอบด้วย
1. ลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน โดยควบคุมระดับน้ำในคลอง แก้มลิง และ Water Bank
2. เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ อาทิ สถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ขุดลอกคลอง 225 กม. และเปิดทางน้ำไหล 2,036 กม. แล้วเสร็จ 100% ล้างทำความสะอาดท่อกว่า 4,300 กม. แล้วเสร็จ 99%
3. เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ อาทิ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำชนิดต่าง ๆ และหน่วย Best เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10 ต.ค. 67 ปริมาณฝนกรุงเทพฯ เดือน ต.ค. 67 อยู่ที่ 152 มิลลิเมตร มีค่าใกล้เคียงกับปี 66 ขณะปริมาณฝนสะสมทั้งปี 67 อยู่ที่ 1,273 มิลลิเมตร มีค่าน้อยกว่าปี 66 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 1,369 มิลลิเมตร
จากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่า กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่เขตใดที่น้ำไม่ท่วม เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเจ้าพระยาขึ้น-ลง เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเหนือ หรือเขตใดจะรับผลกระทบบ้างนั้น กทม. ขอย้ำว่าไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที