กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เผยข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ในรอบสัปดาห์ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ซีพี ออลล์ เปิดให้จองหุ้น ผลตอบแทน 10-30% ปันผลกำไรต่อวัน รับรองโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 2 : เรื่อง กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ ปปง. เปิดลงทะเบียนขอรับเงินคืนผ่านเพจเฟซบุ๊ก Thai Police CYBER
อันดับที่ 3 : เรื่อง เรื่อง SET เปิดให้เรียนลงทุนฟรีกับคุณโจ ลูกอิสาน-เซียนหุ้นรุ่นเก๋า เพียงเพิ่ม Line รับหุ้นคุณภาพวันละ 1-3 ตัว
อันดับที่ 4 : เรื่อง ลงทุนกับ บริษัทฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ร่วมกับ ก.ล.ต. กำไร 12-30% ผ่านเพจ ฮั่วเซ่งเฮง HSHsocial Co., Ltd.
อันดับที่ 5 : เรื่อง กรมการจัดหางานเปิดช่องทางรับสมัครงานหลายตำแหน่ง ผ่านบัญชี lanyxd51
อันดับที่ 6 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดคอร์สสอนเทรดอย่างยั่งยืน ต่อยอดความคิดด้านการเงิน
อันดับที่ 7 : เรื่อง กรมการขนส่งทางบกเปิดเพจเฟซบุ๊ก Real Hassana Muhd
อันดับที่ 8 : เรื่อง เปิดโอกาสให้เข้าเทรดหุ้นทองคำไทย เริ่มต้น 1,000 บาท ปันผล 390 บาท กำกับดูแลโดยสำนักงาน ก.ล.ต.
อันดับที่ 9 : เรื่อง ผู้แนะนำการลงทุนที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. ชักชวนลงทุนผ่านไลน์โค้ชเกรซ ธัญญ์รวี
อันดับที่ 10 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเว็บไซต์ใหม่
โดยข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุดส่วนใหญ่เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้น และสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยอ้างว่ามีหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับรอง ทำให้ประชาชนเกิดความหลงเชื่อ โดยข่าวปลอมอันดับ 1 เรื่อง "ซีพี ออลล์ เปิดให้จองหุ้น ผลตอบแทน 10-30% ปันผลกำไรต่อวัน รับรองโดย ก.ล.ต." ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด ทำให้สูญเสียทรัพย์สินละข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
"กระทรวงดีอีได้ประสานงานร่วมกับ ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า โฆษณาการลงทุนดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จสร้างขึ้นโดยมิจฉาชีพ และแอบอ้างใช้โลโก้ของ ก.ล.ต.โดยไม่ได้รับอนุญาต สร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้พบเห็นว่าทาง ก.ล.ต.เป็นผู้ดูแลการลงทุนนี้ ซึ่ง ก.ล.ต.ขอยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับข้อมูลโฆษณาเชิญชวนลงทุนดังกล่าว" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สำหรับผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 4-10 ต.ค.67 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 841,161 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 367ข้อความ และช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 355 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 11 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 1 ข้อความรวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 190 เรื่อง โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 72 เรื่อง
ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจลงทุนสามารถตรวจสอบว่า ผู้ที่ชักชวน/ผู้ให้บริการได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือไม่ ได้ที่ www.sec.or.th/seccheckfirst หรือ ติดตั้งแอปพลิเคชัน SEC Check First เพื่อตรวจสอบข้อมูลได้ทันที หรือติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน โทร. 1207 กด 22 และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงาน ก.ล.ต.สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. SEC Help Center 1207