NIA-CCC Academy เปิดหลักสูตรปั้นบุคลากร AI-IoT รองรับอุตฯอนาคต-เพิ่มรายได้ธุรกิจนวัตกรรมมุ่งเป้า

ข่าวทั่วไป Tuesday October 15, 2024 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมมือกับ CCC Academy และเครือข่ายพันธมิตร เปิดตัวโปรแกรมเร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญเอกชน เพื่องานปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ และไอโอที (AI, Robotics and IoT Corporate Coaching program: ACC program) ซึ่งเป็นหลักสูตรส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลที่ตอบโจทย์องค์ความรู้ให้กับบุคลากร และสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในภาคธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

น.ส.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรม AI กำลังเป็นที่จับตามองทั่วโลก ด้วยศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและพัฒนาการดำเนินธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยในปี 67 อุตสาหกรรม AI ในประเทศไทยเติบโตขึ้น 26% ของมูลค่าตลาด และคาดการณ์ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าลงทุนรวม 32 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้านด้านปัญญาประดิษฐ์ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการค้าปลีก การแพทย์ การเกษตร การศึกษา และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

ดังนั้น เทคโนโลยี AI ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บุคลากรที่เกี่ยวข้องจึงต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อสร้างนวัตกรรมและความแตกต่าง รวมถึงแก้ปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญ

ทั้งนี้ NIA ในฐานะผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor) ที่เชื่อมการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด Groom-Grant-Growth-Global จึงได้ร่วมกับ CCC Academy เปิด ACC program ซึ่งเป็นหลักสูตรส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัล ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ เพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ให้แก่ระบบนิเวศนวัตกรรมสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมและรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจเชิงพาณิชย์ โดยโครงสร้างหลักสูตรออกแบบมาเพื่อเร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญเอกชนในด้านปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ และไอโอที ซึ่งจุดเริ่มต้นผู้ที่จะเข้าเรียนสามารถนำพื้นฐานที่ตัวเองมีมาใช้ในการออกแบบและเขียนโปรแกรมเพื่อใช้งานจริง แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. ความรู้และทักษะขั้นสูงในการเขียนโปรแกรมพัฒนาซอฟต์แวร์เอไอ

2. การประยุกต์ใช้งานในธุรกิจ

3. การเติบโตของเทคโนโลยี กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไขต่าง ๆ และกติกาสู่ความเป็นจริง

น.ส.กริชผกา กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากหลักสูตรนี้ นอกจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาช่วยยกระดับการดำเนินงาน และการแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

นายนที เทพโภชน์ ประธาน CCC Academy กล่าวว่า ACC program เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง NIA, CCC Academy และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.-14 ธ.ค. 67 โดยโปรแกรมนี้ได้ผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำที่จะเข้ามาเป็นวิทยากรและที่ปรึกษา (Mentor) รวมถึงกลุ่มสมาคมดิจิทัลกว่า 13 สมาคม ที่ช่วยสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยมีความตั้งใจในการพัฒนาระบบนวัตกรรมที่จะรองรับการเติบโต เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมของภาคธุรกิจ รวมถึงองค์ความรู้ที่นำมาแบ่งปันแก่ผู้ร่วมหลักสูตร

โดยหลังจากจบหลักสูตรแล้ว จะมีกิจกรรม City Connect Day และกิจกรรมสร้างเครือข่าย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการนำเสนอผลงาน สิ่งที่ได้เรียนรู้พัฒนา ต่อยอด จนปรากฎเป็นผลงานที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมมุ่งเป้าได้จริง และสามารถสร้างรายได้แก่ภาคธุรกิจเชิงพาณิชย์

สำหรับ ACC program เป็นหลักสูตรที่ริเริ่มและสนับสนุนโดย NIA ซึ่งออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับมืออาชีพ ผู้ประกอบการ และธุรกิจต่าง ๆ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการนำพลังการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรัฐบาลที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

หลักสูตรนี้มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ AI ในภาคส่วนเทคโนโลยีดิจิทัล ไอโอที และบล็อกเชนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 6 สัปดาห์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงการอบรมเชิงปฏิบัติการในทักษะขั้นสูง และช่วงการนำองค์ความรู้ที่ได้รับนั้นแก้ไขโจทย์ปัญหาในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยคาดหวังเพิ่มจำนวนกำลังคนทางด้านดิจิทัลให้เป็นผู้เชี่ยวชาญพร้อมได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามนโยบายของกระทรวง อว. และรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ