นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม เร่งดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะกรณีของ SMS แนบลิงก์หลอกลวงจากการก่ออาชญากรรมออนไลน์ของมิจฉาชีพ ที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้ช่องทางของ SMS หรือข้อความแนบลิงก์ในโทรศัพท์มือถือของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยลิงก์ดังกล่าวอาจเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการติดตั้งระบบดึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือดูดเงินในบัญชีของประชาชน ซึ่งสร้างผลกระทบและความเสียหายให้กับประชาชน
"มาตรการ Cleansing Sender Name จะเป็นการป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพในการส่งข้อความ SMS แนบลิงก์หลอกลวงเพื่อใช้ในการติดตั้งระบบดูดเงิน หรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้เป็นจำนวนมาก โดยกำหนดลงทะเบียนให้ผู้ส่งข้อความจบภายในปี 2567" นายประเสริฐ กล่าว
โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย
1.กำหนดให้ Sender Name ลงทะเบียนใหม่ทั้งระบบภายในปี 2567 และต้องมีการลงทะเบียนทุก ๆ ปีเพื่อให้สามารถระบุว่า ผู้ให้บริการ และผู้ส่ง SMS คือใคร
2.มาตรการความปลอดภัยสำหรับการส่ง SMS แนบลิงค์ ดังนี้
2.1 ผู้ส่งข้อความ (Sender Name) SMS แนบลิงก์จะต้องลงทะเบียนกับผู้ให้บริการเครือข่ายทุกครั้ง
2.2 สำหรับการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความและลิงก์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่ายตรวจสอบลิงก์ ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ (End user)
2.3 หากกรณีที่มีการตรวจพบข้อความแนบลิงก์หลอกลวง ข้อความแนบลิงก์ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หรือข้อความอื่นที่สามารถใช้เป็นช่องทางในการติดต่อถึงบุคคลอื่น เช่น ไอดี Line ทั้งนี้มอบหมายให้ตำรวจดำเนินการ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 โดยให้ดำเนินการแจ้งผู้ให้บริการเครือข่ายยกเลิกสัญญาบริการกับผู้ส่งข้อความ (Sender Name) และผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลการลงทะเบียนของผู้ส่งข้อความให้กับทางตำรวจเพื่อดำเนินคดีตากฎหมายกับผู้ส่งข้อความต่อไป
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงฯ มีความห่วงใยประชาชน โดยขอให้ตรวจสอบอย่างละเอียด หากมีการส่ง SMS แนบลิงก์เข้ามาจากผู้ส่งข้อความ (เบอร์โทร) ที่น่าสงสัย หากมีการแอบอ้างในข้อความว่าเป็นหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือธนาคาร ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ไม่มีนโยบายที่จะให้ข้าราชการ พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ส่ง SMS ผ่านเบอร์โทรส่วนตัวถึงประชาชน โดยหากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามผ่านสายด่วน 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชน ยึด "หลัก 4 ไม่ คือ 1.ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน"