นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) ระบุว่า ในขณะที่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดที่มีความสำคัญต่อการผลักดันอุตสาหกรรมนี้ อย่างตลาดซื้อ-ขายคอนเทนต์ ก็เติบโตควบคู่ไปด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการมีตลาดที่จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) เกิดขึ้นทั่วโลกมากมาย ซึ่งเวทีเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์ ได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนการซื้อ-ขายคอนเทนต์ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายคอนเทนต์จากทั่วโลก
ดังนั้น CEA ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงนักสร้างสรรค์ตลอดจนนักธุรกิจ-นักลงทุนเข้าไว้ด้วยกัน จึงได้เปิดตัวตลาดซื้อขายคอนเทนต์ของไทยครั้งใหญ่ อย่าง Content Project Market ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ไม่ได้มีเพียงการซื้อขายคอนเทนต์โปรเจ็กต์ภาพยนตร์ และซีรีส์ แต่ยังมีโปรเจ็กต์สำหรับสายงานด้านแอนิเมชัน และนักเขียนบทระดับมืออาชีพของไทยโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Content Lab 2024 สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล
โดย Content Project Market เป็นพื้นที่ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจให้นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ของไทย ได้นำเสนอผลงาน ทั้งบทภาพยนตร์และซีรีส์ของตนเอง รวมไปถึงไอเดีย เนื้อหา หรือคอนเซ็ปต์ (Pitch Deck) ที่ยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาต่อนักธุรกิจ-นักลงทุนในแวดวงอุตสาหกรรมคอนเทนต์ และสตรีมมิงแพลตฟอร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 64 บริษัท เช่น บริษัทเนรมิตรหนัง ฟิล์ม จำกัด, บริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด, บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด, Skyline Media Group จากประเทศเวียดนาม, Barunson E&A จากประเทศเกาหลีใต้, Mocha Chai Laboratories จากประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ CEA มองว่า นอกจาก Content Project Market จะเป็นการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้แก่เหล่านักสร้างสรรค์ของไทย และพัฒนาศักยภาพผู้สร้างคอนเทนต์แล้ว ยังมุ่งหวังการสร้างโอกาสในการต่อยอดผลงานของตนเองสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ และทัดเทียมมาตรฐานอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในระดับสากล ไปจนถึงการสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยในระดับสากลในอนาคต เพื่อเป็นอีกหนึ่งความหวังและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้สร้างสรรค์รุ่นใหม่ ตลอดจนผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทย สามารถเติบโตในตลาดโลกอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นายชาคริต กล่าวว่า ในปี 65 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ?คอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์? มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.08 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้า (64) ถึง 12% และคาดการณ์ว่าในปี 67 จะมีมูลค่าสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะจากการเติบโตของสตรีมมิงแพลตฟอร์มต่าง ๆ
สำหรับการจัดงาน Content Project Market เปรียบได้กับตลาดซื้อ-ขายและเวที Pitching คอนเทนต์ของไทย ที่เชื่อมโยงนักสร้างสรรค์กับนักลงทุนให้มาพบปะพูดคุยเพื่อเจรจาต่อยอดธุรกิจ โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชัน ในขณะเดียวกัน ยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ สร้างเครือข่าย และพัฒนานักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ให้มีทักษะในการนำเสนอผลงานกับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะต่าง ๆ ภายใต้โครงการ Content Lab 2024 รวมถึงนักสร้างสรรค์คอนเทนต์มืออาชีพ จากการเปิดรับสมัครจากภายนอก รวมทั้งหมด 59 โปรเจ็กต์ โดยแบ่งเป็นโปรเจ็กต์จากโครงการ Content Lab 2024 จำนวน 37 โปรเจ็กต์ และจากการเปิดรับสมัคร (Open Call) จำนวน 22 โปรเจ็กต์
ทั้งนี้ นักสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมงาน ได้นำโปรเจ็กต์ที่พัฒนาแล้วของตนเอง มานำเสนอกับนักธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ นักลงทุนจากสตรีมมิงแพลตฟอร์มระดับสากล รวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านเวที Pitching และการเจรจาธุรกิจ Business Matching เพื่อต่อยอดผลงานสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่จะร่วมกันผลักดัน และยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยให้เป็นที่รู้จักบนเวทีนานาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต
สำหรับงาน Content Project Market จัดขึ้นครั้งแรกขึ้นในปี 66 โดยเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Content Lab 2023 ที่ได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากกลุ่มธุรกิจ และพันธมิตรในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ทั้งไทยและต่างประเทศ และทีมที่เข้าร่วมโครงการในกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์ จำนวน 13 ทีม ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ปี 67 นี้
"เชื่อมั่นว่าการจัดงาน Content Project Market ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดัน และต่อยอดผลงานของนักสร้างสรรค์สายคอนเทนต์ จากโครงการย่อยต่าง ๆ ของโครงการ Content Lab 2024 ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จากจุดเริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาทักษะ เพื่อยกระดับคุณภาพของผลงานสร้างสรรค์ให้ดียิ่งขึ้น ไปสู่การนำเสนอโปรเจ็กต์ให้เกิดการผลิตขึ้นได้จริงในตลาดคอนเทนต์ และยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดสากลได้อย่างแข็งแกร่ง ตลอดจนเป็นผลงานต้นแบบในการส่งเสริม และสนับสนุนนักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์คอนเทนต์ไทย ให้เติบโตในระดับโลกต่อไป" นายชาคริต กล่าว