บช.ก. ส่งต่อคดี "ดิไอคอน" ให้ DSI รับช่วงต่อ มั่นใจสำนวนไร้ช่องโหว่

ข่าวทั่วไป Monday October 28, 2024 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บช.ก. ส่งต่อคดี

เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ได้นำสำนวนคดี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด จำนวน 18 ลัง โดยเป็นสำนวนคดีที่รับเรื่องผู้เสียหายที่แจ้งความ ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. ถึงวันที่ 16 ต.ค. 2567 ไปส่งมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินการรับเป็นคดีพิเศษ และยังมีสำนวนบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทยอยส่งสำนวนที่เหลือให้ในภายหลัง

พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) กล่าวว่า วันนี้ได้มีการส่งมอบสำนวนของคดีดิไอคอน พร้อมด้วยพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมด ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เบื้องต้นมีสำนวนที่ส่งในวันนี้ทั้งหมด 18 ลัง 156 แฟ้ม ที่เป็นผู้เสียหายที่มาแจ้งความระหว่างวันที่ 10 - 16 ต.ค. เพื่อดำเนินการรับเป็นคดีพิเศษ และยังมีสำนวนบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทยอยส่งสำนวนที่เหลือให้ในภายหลัง โดยบช.ก. รับผู้เสียหายไว้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,400 กว่าราย ไม่รวมพยานบุคคลที่ทำการสอบไว้อีกหลายปาก

พล.ต.ต.สุวัฒน์ ระบุว่า ตามกฎหมาย หาก DSI รับเป็นคดีพิเศษแล้ว อำนาจทั้งหมดก็จะอยู่ที่ DSI ดำเนินการ แต่ในเรื่องที่ว่าจะมีช่องโหว่ของสำนวนนั้นไม่น่าจะมี เพราะตอนนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวนที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยที่ส่งคดีไปก็เพื่อที่จะให้ DSI ดำเนินการต่อให้สมบูรณ์

สำหรับการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมก็อยู่ที่พยานหลักฐานที่ตอนนี้ตำรวจรวบรวมหลักฐานแล้ว หากพบว่ามีฐานความผิดอื่นด้วยก็จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ใช้หลักเดียวกันหากสอบสวนแล้วพบว่ามีความผิดฐานอื่นอีกก็จะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้

*DSI เรียกประชุมคกก.กลั่นกรองคดีพิเศษพรุ่งนี้เช้า

ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดี DSI กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจึงได้มีข้อสั่งการให้กองบริหารคดีพิเศษเชิญประชุมคณะกรรมการ ในวันพรุ่งนี้ เวลา 09:00 น. โดยจะเชิญผู้แทนของกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และผู้สืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการฯ ซึ่งสามารถมีความเห็นเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เป็นสองแนวทางตามบทบัญญัติของกฎหมาย กล่าวคือหากเป็นคดีที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสั่งรับคดีได้ก็จะเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อมีคำสั่ง แต่ในกรณีที่เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจก็จะเสนอความเห็นต่ออธิบดีฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)ให้พิจารณามีมติรับเป็นคดีพิเศษโดยด่วนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ