รัฐบาลปัดให้สัญชาติกลุ่มสีเทา ยัน 4.8 แสนคน เป็นชาติพันธุ์อยู่ไทยเกิน 30 ปี

ข่าวทั่วไป Friday November 1, 2024 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอให้ลดขั้นตอนการให้สัญชาติไทยกับบุคคลกว่า 4.8 แสนคนนั้น เป็นการพิจารณาให้สัญชาติต่อผู้ที่ยื่นขอไว้ และอยู่ในระบบของทางราชการมากว่า 30 ปี ไม่ใช่การให้สัญชาติแก่คนสีเทา หรือพวกอาชญากรข้ามชาติ

ทั้งนี้ สมช.เสนอว่าเป็นการลดขั้นตอนและเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2535-2566 มีผู้ที่ยื่นขอไว้ประมาณ 8.25 แสนคน ผ่านมาแล้ว 31 ปี หลายรัฐบาลอนุมัติไปได้แค่ 3.24 แสนคน

"คนจำนวนมาก รอจนเสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากรอขั้นตอนทางราชการของหน่วยงานความมั่นคง ทางปกครอง มานานกว่า 30 ปี โดยปัจจุบันยังมีตกค้างอยู่อีกราว 4.83 แสนคน ซึ่ง สมช.เห็นว่า หากยังใช้ขั้นตอนเดิมในยุคก่อน ที่ต้องตรวจสอบและจัดทำประวัติแบบอะนาล็อก ไม่รวดเร็ว และทันสมัยเท่าปัจจุบัน ต้องใช้เวลาถึง 44 ปี แต่ปัจจุบันมีระบบจัดเก็บข้อมูล ประวัติลายนิ้วมือทางคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งระบบไบโอเมตริกซ์ ก็จะรวดเร็วจากการลดขั้นตอนได้มาก" นายจิรายุ กล่าว

สำหรับผู้ที่ยื่นขอจำนวน 4.83 แสนคนนั้น กลุ่มแรกจำนวน 3.4 แสนคน ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและจัดเก็บฐานข้อมูลต่าง ๆ ไว้หมดแล้ว คนกลุ่มนี้จะได้รับใบถิ่นที่อยู่ถาวร และต้องใช้เวลาขั้นต่ำอีก 5 ปี เพื่อขอแปลงสัญชาติเป็นไทย และเมื่อได้รับสัญชาติไทยแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิทางการเมือง เช่น การลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งไปลงคะแนนเลือกตั้งได้ในทุกระดับ โดยต้องแปลงสัญชาติมาแล้วอย่างน้อย 5 ปีจึงจะมีสิทธิ เท่ากับว่าต้องใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ 10 ปี ส่วนกลุ่มที่ 2 อีกประมาณ 1.43 แสนคน เป็นบุตรของกลุ่มแรกที่เกิดในประเทศไทย ที่มีเอกสารการเกิดจากสถานที่เกิดต่าง ๆ ในประเทศไทย

"ในอดีต เรามีคนโพ้นทะเลอพยพมาในสยาม หรือในประเทศไทย เรามีผู้อพยพยุคเวียดนามใต้ ในยุคไซ่ง่อนแตก เรามีไทยรามัญ และอีกหลากหลายประเทศเข้ามาอยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมา หลายรัฐบาลก็เข้มงวดในการให้สัญชาติ โดยประเทศไทยได้ให้สัญชาติไทยไปแล้วนับล้านคน" นายจิรายุ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ