ดีเดย์!! รฟม.นำร่องสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มต.ต. 5 สถานีแรก 15 พ.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Friday November 1, 2024 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เปิดเผยว่า ได้มีการจัดการจราจรเพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างรับรู้ให้แก่ประชาชน ก่อนเริ่มดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ

โดยโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ด้านตะวันตก มี 11 สถานี เป็นโครงการใต้ดินตลอดสาย ซึ่ง รฟม. แจ้งให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะผู้ร่วมลงทุน เริ่มงานเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 67 โดยปัจจุบัน บมจ. ช.การช่าง (CK) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างของ BEM จะเริ่มเบี่ยงการจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง 5 สถานีแรก ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์, สถานีศิริราช, สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 67 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป เพื่อดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค และก่อสร้างกำแพงกันดิน

โดยสถานีบางขุนนนท์ จะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจราจรชิดทางเท้า 1 ช่องจราจร แนวถนนสุทธาวาสตัดกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ส่วนสถานีศิริราช จะเป็นการจัดการจราจรในพื้นที่การรถไฟฯ ด้านใต้สะพานอรุณอัมรินทร์ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อช่องจราจร, สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะปิดเบี่ยงจราจร บริเวณถนนราชดำเนิน ฝั่งขาเข้าเมือง ช่วงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงแยกผ่านฟ้า, สถานียมราช ปิดเบี่ยงจราจรบริเวณหน้าบ้าน "มนังคศิลา" และสถานีประตูน้ำ ปิดเบี่ยงจราจรบริเวณหน้าสถานทูตอินโดนีเซีย สำหรับอีก 6 สถานีที่เหลือ จะปิดเบี่ยงจราจรครบทั้งหมดในปลายเดือนพ.ย. 67

"แนวถนนราชดำเนิน ที่เส้นทางสายสีส้ม จะตัดกับสายสีม่วงใต้ รฟม. และ บช.น.ได้นำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อจัดจราจรและทางเลี่ยง เพื่อให้งานก่อสร้าง 2 โครงการมีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้ ยังมีจุดที่ต้องรื้อสะพานข้ามแยก 3 จุด คือ 1. แยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ 2.แยกราชเทวี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้เดือนม.ค.68 และ 3.สะพานข้ามแยกประตูน้ำ เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างแคบ ขณะที่แนวอุโมงค์รถไฟ จะมาจากแยกราชปรารภ และเลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จะกระทบต่อการจราจรมาก คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณเดือนมี.ค.69 ซึ่งในส่วนของการรื้อและสร้างสะพานใหม่นั้น จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี" นายกิตติกร กล่าว

ทั้งนี้ ได้หารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนปรับปรุงสะพาน และขยายสะพานอยู่แล้ว จึงจะพิจารณาเพื่อดำเนินการไปพร้อมกัน โดยจะมีการทดสอบสภาพจราจรในช่วงรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อประเมิน และทำแผนการรื้อสะพานต่อไป

นอกจากนี้ รฟม. และผู้รับจ้าง ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ ให้มากที่สุด จึงได้กำชับให้ผู้รับจ้างลดผลกระทบด้านการจราจร โดยดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรเท่าที่จำเป็น ติดตั้งป้ายและเครื่องหมายจราจรให้มีความชัดเจนเป็นไปตามมาตรฐาน จัดให้มีอาสาจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างแต่ละจุด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก โดยจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าทางช่องทางต่าง ๆ ตลอดจนการดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดฝุ่นละออง PM 2.5

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในภาพรวม ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 ที่ 1.90% ซึ่งยังเป็นไปตามแผนงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ