นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ( ศปช.) เผยการประชุม ศปช.ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช.ได้ร่วมกันประเมินผลการทำงานทั้ง ศปช.และ ศปช.ส่วนหน้า ในช่วงเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ส่วนหน้าได้แก้ปัญหาอุทกภัยและฟื้นฟูผลกระทบจากดินโคลนถล่มจนแล้วเสร็จ และได้ส่งมอบพื้นที่คืนให้กับส่วนราชการในพื้นที่ แต่ได้สั่งการให้ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ฟื้นฟูพื้นที่ในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยให้รายงานข้อมูลกลับมายัง ศปช.ทุกวัน พร้อมกันนี้ผู้อำนวยการ ศปช.ได้สั่งการให้คงการทำงานของ ศปช.ไว้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ทั้งภาคกลางและภาคใต้
"ขณะนี้ ศปช.ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อให้สามารถลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนลงไม่ให้เกิน 700 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้จุดต่ำสุดของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และแม่น้ำน้อยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทองไม่มีผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง ซึ่งคาดจะใช้เวลาอีกราว 1 สัปดาห์" นายจิรายุ กล่าว
ส่วนพื้นที่ภาคใต้นั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ออกประกาศแจ้งเตือน 11 จังหวัด ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 6 พ.ย.นี้ โดยจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ให้พร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชนทันทีที่เกิดสถานการณ์
"ศปช.มีความห่วงใยพี่น้องทางภาคใต้ที่หลายจังหวัดมีโอกาสเกิดฝนตกหนักได้ จึงสั่งเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งปริมาณฝน ความลาดชันของพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้ให้หน่วยงานต่าง ๆ ลงไปสำรวจจุดเสี่ยงในความรับผิดชอบของตัวเองแล้วให้รายงานกลับเข้ามา โดยจะประเมินสถานการณ์ใกล้ชิดต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกัน ศปช.ยังได้ตั้งคณะทำงานศึกษาวางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม ดินโคลนถล่มภาคเหนือ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ซ้ำรอยเหมือนปีที่ผ่านมา" นายจิรายุ กล่าว