ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ (The Center for Thai as a Foreign Language - CTFL) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเรียนภาษาไทยสามารถเปิดประตูสู่ประสบการณ์ใหม่และโอกาสในการทำงานสำหรับชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยหรือมาเที่ยวที่ประเทศไทยได้
ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ จุฬาฯ จึงได้เปิดหลักสูตร "Intensive Thai" ที่ได้รับความนิยมสำหรับชาวต่างชาติ หลักสูตรนี้ได้แบ่งออกเป็น 9 ระดับ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มเริ่มต้น (1-2-3) กลุ่มระดับกลาง (4-5-6) และกลุ่มขั้นสูง (7-8-9) เปิดให้เรียนทั้งที่มหาวิทยาลัยและแบบออนไลน์ แต่ละระดับจะใช้เวลาเรียน 2 เดือน หรือ 6 สัปดาห์ แล้วหยุด 2 อาทิตย์ก่อนจะเริ่มระดับต่อไป มีการสอบวัดผลระหว่างเรียนและเมื่อจบหลักสูตร
นอกจากนี้ยังมีการสอบวัดผลก่อนเรียนเพื่อจัดระดับของผู้เรียน มีการเรียนการสอนวันละ 3 ชั่วโมงจำนวน 5 วันต่อสัปดาห์ หากผู้เรียนอาศัยอยู่ต่างประเทศหรือต่างจังหวัดก็สามารเรียนผ่านทางออนไลน์ได้เช่นกัน
ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมมือกับ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ เพื่อจัดทำหลักสูตรออนไลน์สำหรับทุกคนที่สนใจผ่านระบบ Chula MOOC ในรายวิชา Communicative Thai for Foreigners ที่มีถึง 9 ภาษา ซึ่งมีการสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเพื่อดูพัฒนาการของผู้เรียน เมื่อเรียนจนจบหลักสูตรผู้เรียนก็จะได้ประกาศนียบัตรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
นอกจากนี้ศูนย์ฯ ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ (TFL) สำหรับนิสิตต่างชาติเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มเปิดเรียนครั้งแรกในภาคการศึกษาปลายปีการศึกษา 2567 เป็นหลักสูตรสำหรับผู้ที่ไม่ได้สื่อสารภาษาไทยเป็นภาษาแม่ที่ต้องการจะพัฒนาทักษะภาษาไทยให้อยู่ในระดับสูง
หลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมหาบัณฑิตที่เข้าใจภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง โดยเน้นที่การทำวิจัย การแปล ธุรกิจ การสอนภาษาไทย และการทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อีกทั้งยังสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญรอบด้านที่สามารถใช้ทักษะภาษาไทยได้ในสาขาที่หลากหลาย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ (CTFL) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทางอีเมล ctfl@chula.ac.th หรือ ทางเว็บไซต์ https://www.arts.chula.ac.th/CTFL/