นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บูรณาการร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศเปิดปฏิบัติการตรวจสุดซอย ปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง เช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ เป็นต้น รวมจำนวน 218 ราย โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม และขยายผลตรวจโรงงานทั่วประเทศ โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดตรวจสอบและวางแผนดำเนินการ คาดใช้เวลาภายในเวลา 2 เดือน หากพบโรงงานที่มีกระทำผิดจะสั่งลงโทษเด็ดขาด
"ผมได้กำชับเจ้าหน้าที่ กรอ. และ สอจ.ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบทุกโรงงานสุดซอยอย่างเข้มข้น พร้อมย้ำหากตรวจพบการประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ดำเนินการสั่งการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดให้ถึงที่สุด โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่ออิทธิพลใด ๆ" นายเอกนัฏ กล่าว
ก่อนหน้านี้ ตนได้ให้นโยบายและสั่งการให้ กรอ. และ สอจ.ทั่วประเทศปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด "เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี" โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดีในทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อยกระดับการตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามโรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้น การปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่ต้นเหตุ แต่การจะสู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชน และสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย "สู้ เซฟ สร้าง" นั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ มีความจำเป็นต้องปฏิรูปการกำกับโรงงานทั้งระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ
ด้านนายพรยศ กลั่นกรอง รักษาการอธิบดี กรอ. กล่าวว่า "ปฏิบัติการตรวจสุดซอย" เป็นปฏิบัติเชิงรุกในการตรวจสอบกำกับโรงงานเชิงลึกในทุกมิติ ทั้งด้านการติดตั้งเครื่องจักร กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีมาตรฐาน มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตอย่างครบถ้วน ด้านสิ่งแวดล้อม มีการติดตั้งระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ด้านการบริหารจัดการสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และด้านอาชีวอนามัย การปฏิบัติงานต้องมีความปลอดภัยของทั้งพนักงานและประชาชนโดยรอบโรงงาน อีกทั้ง การประกอบการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายโรงงาน กฎหมายวัตถุอันตราย กฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ระบบตรวจกำกับดูแลสถานประกอบการ หรือระบบ i-Auditor ระบบห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ (E-Report) และระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษ (Pollution Online Monitoring System) เป็นต้น
"กรอ.พร้อมทำงานเป็นเนื้อเดียวกับ สอจ.ในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ รวมทั้งพร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสู้กับผู้ประกอบการที่เย้ยกฎหมาย หากพบโรงงานทำผิดกฎหมาย จะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด" นายพรยศ กล่าว