กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง พายุ "หม่านหยี่" โดยระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ พายุไต้ฝุ่น "หม่านหยี่" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 118.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดยคาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีนในช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. 67 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย
อย่างไรก็ดี ในช่วงวันที่ 20-24 พ.ย. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้นโดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี กาญจนดิษฐ์ บ้านนาสาร เวียงสระ บ้านนาเดิม พุนพิน เคียนซา พระแสง ชัยบุรี ดอนสัก เกาะพะงัน และเกาะสมุย)
จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ขนอม ทุ่งสง สิชล นบพิตำ พิปูน ฉวาง ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา เชียรใหญ่ ชะอวด และหัวไทร)
จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง วังวิเศษ ย่านตาขาว ห้วยยอด นาโยง และปะเหลียน) จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล ทุ่งหว้า มะนัง ควนกาหลง และควนโดน) จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง และควนขนุน)
จังหวัดสงขลา (อำเภอเมืองสงขลา กระแสสินธุ์ สทิงพระ ควนเนียง บางกล่ำ สิงหนคร หาดใหญ่ รัตภูมิ ระโนด จะนะ เทพา และนาทวี)
จังหวัดปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี แม่ลาน กะพ้อ ทุ่งยางแดง ไม้แก่น ยะรัง สายบุรี ยะหริ่ง ปะนาเระ มายอ และหนองจิก)
จังหวัดยะลา (อำเภอเมืองยะลา กรงปินัง เบตง ธารโต บันนังสตา กาบัง ยะหา และรามัน)
จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส ศรีสาคร เจาะไอร้อง แว้ง บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ จะแนะ สุคิริน สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี และตากใบ)
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส