คมนาคมจ่อชงครม.สัญจร วางแผนป้องกันปัญหาน้ำท่วมดินโคลนถล่มเชียงใหม่-เชียงราย

ข่าวทั่วไป Monday November 25, 2024 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานเร่งรัดจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 29 พ.ย.กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอแผนรองรับสถานการณ์อุทกภัยในปี 2568 ทั้งในส่วนของมาตรการบรรเทาความเสียหาย และความสูญเสียจากอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายให้เกิดความเสียหายน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานเร่งรัดจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย ได้แก่ ข้อมูลการวิเคราะห์ปัญหาความสูงภูมิประเทศ (Digital Elevation Model : DEM) โครงข่ายคมนาคมขนส่ง สภาพลำน้ำ และความสามารถในการไหล ตำแหน่งของพื้นที่เมืองและชุมชน

โดยแบ่งออกเป็น ระยะเร่งด่วน 1 ปี, ระยะกลาง 1-3 ปี และระยะยาว 3-5 ปี ในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง (Hard Side) เช่น ขุดลอกคูคลองลำน้ำที่มีตะกอนทับถมและขยายหน้าตัด รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดขวางที่ขวางการไหลของน้ำในลำน้ำ เป็นต้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาเชิงการบริหารจัดการ (Soft Side) เช่น จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุ ติดตั้งระบบเตือนภัยและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะทำงานฯ ยังได้พิจารณาแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มลุ่ม แม่น้ำปิง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, แผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มลุ่ม แม่น้ำกก ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มลุ่ม แม่น้ำสาย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ดังนี้ ตำแหน่งจุดวิกฤติตามแนวแม่น้ำ โดยกรมเจ้าท่าได้ทำการสำรวจพื้นที่ดำเนินการขุดลอก สำรวจทางน้ำ ร่วมกับหน่วยทหารพัฒนา นพค.32 เชียงใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

สำหรับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาบริเวณแม่น้ำสาย ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย - เมียนม่า เกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย - แม่น้ำรวก (JCR) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพเทพมหานคร โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า การขยายช่องทางการไหลของน้ำ โดยการขุดลอกแม่น้ำสาย - แม่น้ำรวก เป็นแนวสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำสาย - แม่น้ำรวก และสิ่งปลูกสร้ำงรุกล้ำเขตแดนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ