จากความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่ จากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยขณะนี้มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส รวม 16 อำเภอ 77 ตำบล 277 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,557 ครัวเรือน
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก รวม 6 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 72 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ชะอวด อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.พระพรหม อ.เมืองฯ อ.ร่อนพิบูลย์ รวม 32 ตำบล 126 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,928 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- จังหวัดสงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ระโนด รวม 4 ตำบล 14 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 193 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
- จังหวัดปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง รวม 11 ตำบล 36 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,939 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- จังหวัดยะลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.บันนังสตา รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ
- จังหวัดนราธิวาส เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.บาเจาะ อ.แว้ง อ.รือเสาะ อ.เจาะไอร้อง อ.สุคิริน รวม 22 ตำบล 82 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,409 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ของจังหวัดภาคใต้ พร้อมทั้งได้สั่งการให้ศปช. เร่งฟื้นฟูพร้อมทั้งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อนำมารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรัฐบาลจะได้แก้ไขและเยียวยาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางการสัญจรต่าง ๆ ในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ 2 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา ทั้งในเขตตัวเมืองและอำเภอต่าง ๆ ที่มีน้ำท่วม ดินสไลด์ และเสาไฟฟ้าหักโค่น
"ปัจจุบันมีหน่วยงานอย่างสทนช. ซึ่งเป็นคณะกรรมการของศปช. ที่บูรณาการดูแลเรื่องของการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งตัวแปรสำคัญทางธรรมชาติ ที่มีฝนตกสะสมนานกว่า 24 ชั่วโมง บางแห่งมีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงถึง 200 มิลลิเมตร ซึ่งการให้ความช่วยเหลือประชาชนของเจ้าหน้าที่ในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบของศปช. ของรัฐบาล ซึ่งแม้จะผ่านเข้าสู่หน้าหนาวแต่ยังมีคำสั่งให้คงไว้ทำให้การบริหารสั่งการทันต่อสถานการณ์" นายจิรายุ กล่าว
นอกจากนี้ ศปช. ได้หารือในที่ประชุมว่า ในระยะยาวการบริหารแผนที่ผังน้ำของประเทศไทย จะต้องถูกนำมาใช้ควบคู่กับผังเมือง ที่จะต้องมีการออกแบบและพัฒนาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มักจะเกิดน้ำท่วมแบบฉับพลันแต่กินระยะเวลาไม่ยาวนาน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปสำรวจความเสียหาย และช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้อย่างรวดเร็ว