น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: IGC-ICH) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติรับรองให้ Kebaya : knowledge, skills, tradition and practices หรือ เคบายา : ความรู้ ทักษะ ประเพณี และการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการเสนอร่วม 5 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity: RL) ประจำปี 2567
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ "เคบายา" เครื่องแต่งกายอันสง่างามของทางใต้ ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีเดียวกันต่อจาก "ต้มยำกุ้ง" ถือเป็นรายการมรดกวัฒนธรรมฯ ลำดับที่ 6 ของประเทศไทย ต่อจากรายการ โขน, นวดไทย, โนรา, สงกรานต์ และต้มยำกุ้ง
รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ในการเสนอ "เคบายา" รายการมรดกวัฒนธรรมร่วม 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน เกิดจากแนวคิดนำโดยประเทศมาเลเซีย ได้มีการประสานงานเมื่อต้นปี พ.ศ. 2565 กับประเทศบรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียน โดยได้รับความยินยอมจากชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งชุมชนผู้ปฏิบัติ และผู้แทนจากประเทศผู้เสนอรายการทั้ง 5 ประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ณ พอร์ตดิกสัน รัฐเนกรีเซมบีลัน ประเทศมาเลเซีย โดยได้แลกเปลี่ยนและเสนอมาตรการส่งเสริมและรักษา จัดทำ และสนับสนุนข้อมูลตามเอกสารแบบฟอร์มขอขึ้นทะเบียน
หลังจากนั้น ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ณ กรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย และการประชุมออนไลน์ โดยประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ เพื่อร่วมกันจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนให้เสร็จสมบูรณ์ ก่อนยื่นเสนอต่อยูเนสโกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เพื่อเข้าวาระการพิจารณาปี 2567
รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า "เคบายา" เป็นเสื้อผ่าหน้า มีลักษณะเด่น คือ การประดับด้วยงานปักและลูกไม้ที่ประณีต และสวมด้วยตัวยึด สามารถสวมใส่คู่กับโสร่งหรือผ้าท่อนล่างที่เข้าชุดกัน เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวัน ในโอกาสทั่วไป รวมถึงในโอกาสที่เป็นทางการ และงานเทศกาลต่าง ๆ
ความรู้ ทักษะ ประเพณี และการปฏิบัติเกี่ยวกับ "เคบายา" มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้หญิงทุกวัย ทุกพื้นที่ และทุกศาสนาจากชุมชนต่าง ๆ ในหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศบรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของประเทศไทย "เคบายา" จึงสะท้อนถึงประวัติศาสตร์และประเพณีที่มีร่วมกันของภูมิภาค ตลอดจนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีส่วนสนับสนุนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน