นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ที่ได้เดินทางไปที่จังหวัดยะลา พร้อมด้วยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในที่ประชุม ครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะขอให้กำหนดแผนฟื้นฟูเยียวยาในเฟส 2 หลังน้ำลด เพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.ได้ อนุมัติหลักการให้การช่วยเหลือเดือนละ 9,000 บาทไปแล้ว
โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่ ทำให้ทราบถึงความต้องการที่แตกต่างจากกรณีน้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งคณะทำงานจะเร่งสรุปเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และขณะนี้ยังมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคใต้ และในสัปดาห์นี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้จะมีความเสี่ยงฝนตกหนัก และฝนตกหนักมากบางแห่ง
ทั้งนี้รัฐบาล มีความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อคลี่คลายโดยเร็วที่สุด ซึ่งในวันนี้ได้เน้นย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมสรรพกำลัง เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
รองนายกฯ ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อสถานการณ์น้ำ ทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก และจะดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง เพื่อทุกครัวเรือนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 7 อำเภอ จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ จังหวัดสงขลา 4 อำเภอ จังหวัดปัตตานี 4 อำเภอ จังหวัดนราธิวาส 3 อำเภอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน โดยเฉพาะในระยะนี้ที่ปริมาณฝนจะลดลง
รวมทั้งได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงหลังจากนี้ ตามที่รองนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดการณ์ว่าจะกลับมามีฝนตกหนักถึงหนักมากอีกครั้งในช่วงวันที่ 13-16 ธ.ค. 67 บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากนั้นแนวโน้มฝนจะลดลงตามลำดับ
สำหรับเขื่อนบางลาง จะยังคงอัตราการระบายน้ำที่ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งจะต้องมีการติดตามประเมินสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับแผนการระบายให้เหมาะสม โดยจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับระดับน้ำทะเลด้วย โดยขณะนี้การระบายน้ำของเขื่อนบางลางยังไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำบริเวณหน้าเขื่อนปัตตานี โดยเขื่อนปัตตานีได้มีการหน่วงน้ำไว้ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 67 ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลงตามลำดับ โดยเฉพะเขตตัวเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว และในการบริหารจัดการน้ำ ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยของเขื่อนทุกแห่ง