กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รายงานผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 833,092 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 534 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 518 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 12 ข้อความ Website จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 192 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 68 เรื่อง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอีกล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่า เป็นข่าวเกี่ยวกับสุขภาพ และหน่วยงานของรัฐ รวมถึงเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวลได้ ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม
*10 อันดับข่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ลมพิษเกิดจากการบูดเน่าของอาหารในลำไส้ ในช่วงเวลาอากาศเปลี่ยน ทำให้ร่างกายเกิดความแปรปรวน
อันดับที่ 2 : เรื่อง คิงเพาเวอร์ประกาศปิดทุกสาขาอย่างไม่มีกำหนด
อันดับที่ 3 : เรื่อง ใบหน้าบวม ปลายจมูกแดง เป็นสัญญาณเตือนว่าหัวใจกำลังทำงาน
อันดับที่ 4 : เรื่อง รัฐบาลเตรียมประกาศงดเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดเดลตาครอล XBC
อันดับที่ 5 : เรื่อง ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อออมสิน เปิดให้ยืม วงเงินขั้นต่ำ 10,000 บาท
อันดับที่ 6 : เรื่อง ธ.ก.ส. ลงมติยกเลิกการตรวจสอบเครดิตบูโร แบล็คลิสต์ เพื่อช่วยเหลือคนไทยทุกอาชีพ
อันดับที่ 7 : เรื่อง อาการง่วงนอน ท้องอืดทุกครั้งหลังกินข้าวมักพบในผู้ที่เลือดไม่สมบูรณ์
อันดับที่ 8 : เรื่อง PEA เปิดรับแจ้งปัญหาเปลี่ยนมิเตอร์ไฟ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านไลน์การไฟฟ้าซ่อมบำรุงPEA
อันดับที่ 9 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กชื่อ ร.ร.กิตติวิทยา จ.ตราด กิตต์ นิรันต์พานิช เป็นเพจของโรงเรียนกิตติวิทยา อ.เมืองตราด จ.ตราด
อันดับที่ 10 : เรื่อง พายุฟิลิปปินส์ลูกที่ 2 เข้าไทยแล้ว และยังมีอีกลูกที่ 3