ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช. ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการบูรณาการ การเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนี้
1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และศูนย์พักพิงชั่วคราวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ทันที
2. ขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมชลประทาน และกระทรวงกลาโหม เตรียมสนับสนุนกำลังพลและอุปกรณ์ในพื้นที่ให้พร้อม หากเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ชี้เป้า
3. หากมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุ ให้กระทรวงกลาโหมเข้าพื้นที่ทันที เพื่อเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว
4. ขอให้กรมทรัพยากรธรณี เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม
5. ขอให้กระทรวงคมนาคม เร่งสำรวจตรวจสอบเส้นทางถนนในพื้นที่เสี่ยง หรือเส้นทางที่เคยเกิดน้ำท่วม และเตรียมการใช้เส้นทางเลี่ยง เพื่อให้การสัญจรสามารถเชื่อมต่อกันได้ พร้อมตรวจสอบป้องกันเส้นทางรถไฟที่อาจได้รับผลกระทบจากดินโคลนถล่ม หรือน้ำท่วม
6. ด้านสาธารณสุข ขอให้เฝ้าระวังสถานที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม และเตรียมป้องกันโรงพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
"รัฐบาลส่งความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างมาก สั่งการให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งระดมสรรพกำลังพร้อมให้เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมการรับมือและป้องกันในช่วงวันที่ 12-16 ธ.ค.นี้" รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ระบุ กล่าว
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 15-17 ติดตามและเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกับพร่องน้ำเพื่อเตรียมพื้นที่ว่างไว้รองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่มอีกระลอก รวมไปถึงการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รวมกว่า 500 หน่วย ประจำจุดเสี่ยงในการเข้าช่วยเหลือหากเกิดอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด