นายกฯ ประชุม 12 ผู้ว่าฯ จ.ใต้ กำชับพร้อมรับมือฝนระลอกใหม่ พอใจจ่ายเงินเยียวยาไว

ข่าวทั่วไป Monday December 9, 2024 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฯ ประชุม 12 ผู้ว่าฯ จ.ใต้ กำชับพร้อมรับมือฝนระลอกใหม่ พอใจจ่ายเงินเยียวยาไว

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ เพื่อรับรายงานความเสียหาย และการเตรียมการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ผ่านระบบ Video Conference กับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้) โดยแจ้งว่ารัฐบาลได้ปรับหลักเกณฑ์การอนุมัติเงินฉุกเฉินระดับจังหวัด จาก 20 ล้านบาท เป็น 70 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายละ 9,000 บาทไปแล้ว โดยได้จ่ายเยียวยาเบื้องต้นแล้วกว่า 2,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็วกว่าในอดีตที่ต้องรอนานหลายเดือนกว่าจะได้รับเงินเยียวยา

นายกฯ ประชุม 12 ผู้ว่าฯ จ.ใต้ กำชับพร้อมรับมือฝนระลอกใหม่ พอใจจ่ายเงินเยียวยาไว

นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้า ให้เตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เนื่องจากสัปดาห์นี้ในวันที่ 12 ธ.ค. มีการแจ้งเตือนแล้วว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้อีก จึงขอให้ส่วนหน้าเตรียมพร้อมรับมือให้ทันสถานการณ์ตลอด 24 ชม.

ทั้งนี้ ภายหลังรับฟังรายงานความเสียหาย และการเตรียมการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผ่านระบบ Video Conference กับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการภาคใต้ 12 จังหวัด ที่ได้ทำงานอย่างทุ่มเท เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกับสั่งการให้ดำเนินการ ดังนี้

นายกฯ ประชุม 12 ผู้ว่าฯ จ.ใต้ กำชับพร้อมรับมือฝนระลอกใหม่ พอใจจ่ายเงินเยียวยาไว

1. ด้านชีวิตความเป็นอยู่ ให้ทุกหน่วยงานเร่งเข้าให้การช่วยเหลือ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ดูแลด้านการดำรงชีพเบื้องต้นให้เพียงพอ และให้พิจารณาถึงความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะผู้ประสบภัยกลุ่มเปราะบาง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการฟื้นฟูในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

2. ด้านสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน เร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า และระบบน้ำประปา ในพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติโดยเร็ว ออกมาตรการลดผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา ระบบโทรคมนาคม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

3. การเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ เร่งรัดการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.67 ซี่งได้เห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยให้สามารถเบิกจ่ายถึงมือประชาชนได้โดยเร็ว

4. การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในห้วงต่อไป ให้หน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย โดยให้อพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว/พื้นที่ปลอดภัยที่หน่วยงานภาครัฐจัดไว้ให้

ก่อนเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ ให้เตรียมความพร้อมทรัพยากรทุกด้าน ทั้งด้านเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย กำลังเจ้าหน้าที่ ไว้ประจำในพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีเมื่อเกิดภัย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องการแจ้งเตือนภัยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง และเตรียมตัวอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย ส่วนเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ขอให้เร่งสำรวจความเสียหายภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย และยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้กำชับทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมถึงมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ได้ใช้แนวทางการช่วยเหลือเหตุการณ์ในภาคเหนือ ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ทำงานร่วมกับ ศปช. ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานคณะทำงาน ได้มีการสั่งการคนที่ดูแลพื้นที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ลงพื้นที่ไปแล้ว และได้รายงานพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยกลับมา ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือประชาชน

"ได้รับเสียงสะท้อนจากหลายจังหวัด ว่าระดับน้ำลดลง ก็รู้สึกอุ่นใจขึ้น แต่ถ้าสถานการณ์น้ำในพื้นที่ใดยังมีจำนวนมาก และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ส่วนสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน น้ำประปาที่ติดปัญหา ก็ขอให้แจ้งให้ชัดเจน เพื่อจะได้ส่งความช่วยเหลือให้ถูกต้อง เพราะต้องการให้ประชาชนกลับมามีชีวิตที่ปกติได้รวดเร็ว" นายอนุทิน กล่าว

พร้อมระบุว่า จากล่าสุดที่ได้กลับไปดูพื้นที่ที่เคยประสบภัยน้ำท่วม จ.เชียงราย ภาพรวมกลับมาเป็นปกติแล้ว แต่ยังต้องบำรุงรักษาให้เกิดความสวยงามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดพร้อมเปิดการท่องเที่ยวแล้ว ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ถือว่ารัฐบาลมีบทเรียน และมีกรณีตัวอย่างจากภาคเหนือ และภาคอีสานแล้ว จึงสามารถที่จะลงช่วยเหลือพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างรวดเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ