นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 ว่า พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 830,797 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 558 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 537 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 20 ข้อความ Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 225 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 75 เรื่อง โดยในจำนวนนี้ เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ปปง. ร่วมกับ สอท. เปิดให้ผู้เสียหายคดีฉ้อโกงออนไลน์ลงทะเบียนขอรับเงินคืน เพียง 3 ขั้นตอน ผ่านเพจ Maintain security online
อันดับที่ 2 : เรื่อง ปปง. ยึดทรัพย์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ เปิดให้ลงทะเบียนรับเงินคืน ผ่านเพจ Excellent team and concerted efforts
อันดับที่ 3 : เรื่อง ปตท. เปิดให้ลงทุนในหุ้น PTT 8,500 บาท รับรายได้สูงสุดถึง 106,500 บาทต่อเดือน
อันดับที่ 4 : เรื่อง ปปง. เปิดช่องทางให้ผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ติดต่อรับเงินคืน ผ่านเพจ ประบบงานปกครองอิเล็กทรอนิกส์
อันดับที่ 5 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเว็บไซต์ใหม่ให้เข้าลงทุน
อันดับที่ 6 : เรื่อง ETDA เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ สำหรับผู้สูงอายุที่ถูกหลอกลวง สามารถรับสิทธิพิเศษในลำดับแรก
อันดับที่ 7 : เรื่อง เพจ Hua Seng Heng เปิดลงทุนหุ้นทองคำ ได้รับใบอนุญาตและกำกับดูแลโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 8 : เรื่อง OKJ ธุรกิจฟาร์มผักออแกนิค เสนอขายหุ้นเริ่มทุนเพียง 1,000 บาท รับ 260 บาทต่อรอบ รับรองโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 9 : เรื่อง เทรดหุ้นแบบครอบครัว กำไรง่าย ๆ ทำได้ทุกที่ มีผู้เชี่ยวชาญดูแลผ่านไลน์ รับรองโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 10 : เรื่อง CP เปิดให้ลงทุนถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านการรับรองจาก ก.ล.ต.
"เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานด้านการลงทุนที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการเปิดช่องทางให้ลงทะเบียนเยียวยาผู้เสียหายจากคดีอาชญากรรมออนไลน์ และการชวนลงทุน ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล และอาจทำให้ประชาชน ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม" นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง "ปปง. ร่วมกับ สอท. เปิดให้ผู้เสียหายคดีฉ้อโกงออนไลน์ ลงทะเบียนขอรับเงินคืน เพียง 3 ขั้นตอน ผ่านเพจ Maintain security online" กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดย ปปง. ไม่เคยเปิดเพจเฟซบุ๊กอื่นเพื่อรับคำร้องหรือช่วยเหลือผู้เสียหายทุกกรณี
อีกทั้งเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว เป็นเพจปลอมที่มีการนำสัญลักษณ์ของสำนักงาน ปปง. มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีการใช้รูปแบบและเนื้อหาตามเพจจริงของสำนักงาน ปปง. ซึ่งสำนักงาน ปปง. มีเพจเฟซบุ๊กเดียวชื่อ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน-ปปง. โดยมีสัญลักษณ์ติ๊กถูกสีฟ้า (Meta Verified) อยู่ด้านหลังชื่อเพจ ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว (https://www.facebook.com/AMLOTHAILAND/)
"ขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อ ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้น จึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าว หรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด" โฆษกกระทรวงดีอี ระบุ