ทีมนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม "น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษ" ที่เหมาะสมกับอากาศร้อนชื้นแบบประเทศไทย โดยทีมวิจัยประกอบด้วย ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง นักวิจัยหลังปริญญาเอก C2F ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์, รองศาสตราจารย์ ดร.คเณศ วงษ์ระวี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และอาจารย์ ดร.ภณิตา ศิลปวิทยาดิลก ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์
นวัตกรรมน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษได้รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหอสมุดชั้นนำหลายแห่งในประเทศก็ได้นำน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษไปใช้จริงแล้วด้วยโดยการชุบเคลือบหนังสือเอกสารโบราณต่าง ๆ
"น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษไม่เพียงเหมาะกับการอนุรักษ์หนังสือ เอกสารทางประวัติศาสตร์ ภาพวาดและภาพถ่ายโบราณ แต่สำหรับบุคคลทั่วไป น้ำยาดังกล่าวยังช่วยในการรักษาเอกสารสำคัญ หนังสือเล่มโปรด ภาพวาดและภาพถ่ายที่อยากเก็บให้คงสภาพและรักษาสีสันดั้งเดิมเอาไว้ให้นานยิ่งขึ้นด้วย" ดร.ลัญจกร หนึ่งในทีมวิจัยและผู้ก่อตั้งบริษัท รี-บอนดิ้ง จำกัดกล่าว
นวัตกรรมน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษได้จดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และมีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า SalvaStory (ซัลวาสตอรี) โดย ดร.ลัญจกรกล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษไว้ 2 สูตรด้วยกัน คือ
1. สูตรอนุรักษ์หนังสือ โดยสูตรอนุรักษ์หนังสือนี้น้ำยาเคลือบจะมีความเข้มข้นสูง ป้องกันน้ำ ช่วยเสริมความยืดหยุ่น ยืดอายุกระดาษ ไม่ทำให้กระดาษเป็นคลื่น ไม่ทิ้งคราบบนกระดาษ
2. สูตรอนุรักษ์งานศิลปะเป็นน้ำยาแบบพ่นเคลือบ ไร้สี ไร้กลิ่นฉุน ไม่เพิ่มความเงา กระดาษทนน้ำ ใช้ได้กับสีไม้ สีน้ำ สีชาร์โคล สีชอล์ก สีอะคริลิก ดินสอแกรไฟต์ เหมาะสำหรับการผู้ที่ต้องการเพิ่มคุณสมบัติทนน้ำให้กระดาษ ลดการหลุดลอกของสี ลดความเสี่ยงเกิดคราบเหลือง ไม่เปลี่ยนสภาพกระดาษและสีบนงานศิลปะ แต่สูตรนี้จะเข้มข้นน้อยกว่าสูตรอนุรักษ์หนังสือ
หอสมุดชั้นนำหลายแห่งในประเทศ เช่น หอสมุดกลางและหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ ได้นำน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษไปใช้ชุบเคลือบหนังสือเอกสารโบราณแล้ว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในระยะต่อไป ดร.ลัญจกรและทีมวิจัยจึงวางแผนที่จะพัฒนานวัตกรรมให้ครอบคลุมการอนุรักษ์ด้านอื่น ๆ ด้วย
"ทีมวิจัยเรามองการพัฒนาไว้ 2 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรก เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบให้มีประสิทธิภาพทั้งปกป้องวัตถุ และสามารถฆ่าเชื้อราที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วย ส่วนแนวทางที่สอง เราอยากจะต่อยอดนวัตกรรมนี้ให้ใช้กับโบราณวัตถุประเภทอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น งานไม้และงานปูนปั้น โดยน้ำยาเคลือบจะต้องไม่เป็นสารแปลกปลอมหรือส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเนื้อโบราณวัตถุไปจากเดิมตามกฎของการอนุรักษ์" ดร.ลัญจกรกล่าวทิ้งท้าย